World Before your feet (2018)
คนเดินถนนคนหนึ่ง มันจะทำเธอซึ้งและรู้จักเมือง
น่าแปลกที่การไปเที่ยวต่างประเทศนั้นเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราทุกคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ จากที่ชีวิตประจำวันให้เดินออกไปกดเงินหน้าปากซอยออฟฟิศก็ยังทนไม่ไหว เปลี่ยนใจขอยืมเงินเพื่อนแล้วโอนเงินคืนให้แทน
แต่เมื่อไปอยู่ต่างถิ่นเราหลายคนกลับเดินดื่มด่ำไปทั่วเมืองตลอดทั้งวันได้อย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย จนจำนวนก้าวในหนึ่งวันเยอะกว่าทั้งชีวิตที่ผ่านมารวมกันเสียอีก อาจเพราะทุกสิ่งในต่างแดนเป็นความแปลกใหม่ที่ทำให้เราอยากทำความรู้จัก แต่หากเป็นเมืองที่เราใช้ชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันล่ะ จะมีเหตุผลอะไรบ้างที่ทำให้เราอยากลองใช้เวลาด้วยบ้าง
Join well อยากชวนทุกคนไปใช้เวลาสั้นๆ ประมาณ 1 ชั่วโมงครึ่ง ออกเดินตาม Matt Green ผู้ชายธรรมดาๆ วัย 37 ปีที่ตัดสินใจลาออกจากอาชีพวิศวกรอันมีรายได้มั่นคง มาดำรงชีวิตด้วยการกินถั่วกระป๋อง รับจ้างให้ข้าวแมวและพาหมาไปเดินเล่น แลกกับที่พักค้างคืนไปวันๆ เพื่อให้เขาได้มา ‘เดินเฉยๆ’ ไปทั่วนิวยอร์ก (ระยะทางรวมประมาณ 12,875 กิโลเมตร) แล้วตามหาคำตอบของคำถามนั้นไปด้วยกันในภาพยนตร์สารคดีเรื่อง World Before your feet (2018)
จากฟุตเทจที่ยาวกว่า 600 ชั่วโมง ซึ่งเก็บส่วนเสี้ยวของการเดินอันยาวนานราว 6 ปีของเขามาเล่าใหม่ในสารคดีเรื่องนี้ ตลอดทั้งเรื่องก็ใช่ว่าจะพาเราเดินดุ่มไปเรื่อยๆ แต่ได้เรียบเรียงตัดทอนและรวบรวมมุมมองจากคนใกล้ชิดมีต่อเขาตั้งแต่พ่อแม่ไปจนถึงอดีตคนรัก
นอกจากเราจะได้จ้องมองท้ายทอยของเขา ราวกับได้เดินติดตามไปบนถนนหนทางทั่วนิวยอร์กแล้ว ยังได้สนุกไปกับภารกิจแกะรอยประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องรู้ก็ได้ในมหานครที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกไปกับเขาด้วย ตั้งแต่พันธุ์ไม้แปลกๆ ที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่ในเมือง ชายชราที่มีหนวดเครายาวเฟื้อยจนต้องรวบไปทัดไว้กับใบหู ภาพเขียนรำลึกถึงเหตุการณ์ 9/11 ศาสนสถานของชาวยิวที่กลายมาเป็นโบสถ์คริสต์ คลินิกคุมกำเนิดแห่งแรกของสหรัฐฯ ตัว z ปริศนาในย่านบร๊องซ์ ฯลฯ
ตลอดการเดินไปตามทางบ้าง ไม่ตามทางบ้าง เข้ารกเข้าพงบ้าง ลงไปตามชายหาดบ้าง พื้นที่รกร้างบ้าง เขามักได้รับคำถามซ้ำๆ เสมอว่า
“เดินไปทำไม”
Matt ยิ้มร่าเริงแล้วตอบอย่างตั้งใจทุกครั้ง พร้อมกับหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาโชว์แผนที่ใน google maps ให้เจ้าของคำถามดูว่าเขาเดินมาได้ไกลแค่ไหนแล้ว พบเจออะไรมาบ้าง พลางชวนคุยต่อได้อย่างไม่เคอะเขิน เพราะจริงๆ แล้ว นี่ไม่ใช่ครั้งแรกหรอกที่เขาออกเดิน เพราะ ในปี 2010 เขาเคยเดินข้ามประเทศมาแล้ว หลังจากที่เขาลองเดินจาก Rockaway Beach ในนิวยอร์ก ข้ามยังอีกฟากฝั่งถึง Rockaway Beach ในรัฐโอเรกอน ภารกิจครั้งนั้นทำให้เขาค้นพบว่า “การเดินเป็นสิ่งพิเศษ ทำให้เราเข้าไปในที่แห่งนั้น ในขณะที่ตัวเราเคลื่อนที่ไปด้วย”
แน่นอนว่าเสน่ห์ของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าด้วยสองเท้าของเราเองนั้น ไม่ได้มีเพียง Matt คนเดียวที่หลงใหล ยังมีอีกหลายคนที่ออกเดินเช่นเดียวกัน แต่ด้วยจุดประสงค์ที่ต่างไป William B. Helmreich ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาแห่ง City College ผู้วางแผนการเดินอย่างเป็นระบบระเบียบ เพื่อศึกษาการใช้ชีวิตในเมืองของผู้คนจนได้ผลลัพธ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อว่า The New York Nobody Knows
และอีกคนที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ Garnette Cadogan นักวิชาการด้านเมืองและผังเมืองจากจาเมก้า ผู้รักการเดินสำรวจเมืองไม่ต่างกัน แต่ต้องระมัดระวังตัวเป็นพิเศษสำหรับการเดินดุ่มไปตามย่านชุมชนต่างๆ เพียงเพราะเขาเป็นคนผิวสี เขาสวมเสื้อเชิ้ตกางเกงขายาว ถือหนังสือติดตัวไว้เสมอ และไม่ขยับตัวเร็วเกินไปเพื่อไม่ให้ผู้อื่นเข้าใจว่าเขาจะมาทำอันตราย เป็นบทสนทนาสั้นๆ ที่สะเทือนใจไม่น้อย เพราะในเมืองเดียวกันนั้น ขณะที่คนหนึ่งเดินสวมเสื้อยืดกางเกงขาสั้นเดินอย่างสบายใจไปได้ทุกที่ แต่อีกคนกลับต้องระวังตัวไม่ให้ดูน่าสงสัย ไปพร้อมกับระแวงว่าอาจจะถูกทำร้ายได้ทุกเมื่อ
แม้ภารกิจเดินเท้าอันยาวนานของ Matt จะสิ้นสุดลงแล้วที่สี่แยกเล็กๆ แห่งหนึ่งในนิวยอร์ก อย่างเรียบง่าย ไร้ซึ่งเสียงเชียร์โห่ร้องหรือกระดาษสายรุ้งโปรยปราย ไม่มีรางวัลใดๆ มอบให้ที่ปลายทาง เพราะเขาได้รับรางวัลเป็นมิตรภาพและเรื่องราวสนุกๆ มาแล้วตลอดเส้นทาง การค้นคว้าข้อมูลที่เขาค้นพบระหว่างทางในเว็บบล็อกส่วนตัวของเขาเองที่ชื่อว่า imjustwalkin.com จะยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้ข้ามน้ำข้ามทะเลมาบันดาลใจให้เราอยากออกไปเป็น “คนเดินถนนอีกคน” เพื่อทำความรู้จักกับเมืองของตัวเองให้ดีขึ้นด้วยเช่นกัน
ติดตามเรื่องราวระหว่างทางของเขาได้เรื่อยๆ หรือเข้าไปอ่านเรื่องราวเบื้องหลังภาพยนตร์สารคดีเรื่องนี้ได้ที่ theworldbeforeyourfeet.com