“อาหารภาคตะวันออก มีรูปร่างหน้าตาและรสชาติเป็นอย่างไร?”
คงไม่ใช่คำถามที่ตอบง่ายนัก สำหรับคนไทยส่วนใหญ่ที่เติบโตมาโดยรู้จักแค่
อาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารอีสาน และอาหารภาคกลาง มาตลอดชีวิต
การที่ทุกคนไม่รู้จักอาหารภาคตะวันออกนี้เอง ที่ทำให้ ‘ศรีตราด’ หญิงสาวชาวตราดตัดสินใจหอบความอิจฉาเข้ากรุงเพื่อมาป่าวประกาศให้ทุกคนได้รู้จักอาหารบ้านเธอ จนเกิดมาเป็นร้านอาหารภาคตะวันออกแห่งแรกในกรุงเทพที่ ‘พี่เเอ๊ก-วงศ์วิชญ์ ศรีภิญโญ’ และ ‘พี่ตั้ม-นนทวรรณ วิจิตวัฒนากร’ จับมือกันดูแลเอาใส่ใจ โดยมีจุดมุ่งหมายอยากบอกเล่าเรื่องราวของอาหารภาคตะวันออกผ่านชีวิตของหญิงสาวคนนี้ที่มีชื่อว่า ‘ศรีตราด’
สิ่งที่ศรีตราดพกใส่กระเป๋าขึ้นรถไฟมากรุงเทพก็คืออาหารภาคตะวันออก ซึ่งเป็นการผสมผสานกันระหว่างอาหารป่าและอาหารทะเล โดยมีตัวเพิ่มอรรถรสที่สำคัญ คือ ‘ผลไม้’ และ ‘สมุนไพร’ ที่หาได้มากมายจากสวนผลไม้และป่าภาคตะวันออก จนได้ออกมาเป็นอาหารรสชาติพิเศษ ที่ไม่จัดเท่าอาหารใต้แต่ไม่จืดเท่าอาหารกลาง แถมยังอุดมไปด้วยวัตถุดิบท้องถิ่นที่ทั้งอร่อยและปลอดภัย
ตามมารู้จักกับอาหารภาคตะวันออกและชิมฝีมือของหญิงสาวที่ชื่อศรีตราดได้ที่นี่เลย
ศรีตราด
เป็นชื่อของหญิงสาวที่พี่แอ๊กตั้งใจอยากใช้เป็นตัวแทนในการถ่ายทอดเรื่องของอาหารตราดฝีมือคุณแม่ ที่เกิดขึ้นมาจากการรวมลักษณะนิสัยและตัวตนของพี่แอ๊กและคุณแม่เข้าด้วยกัน
ศรี หมายถึง ดี
ตราด หมายถึง จังหวัดตราด
เมื่อรวมกันจึงหมายถึงของดีจังหวัดตราด ดังนั้นของดีจังหวัดตราดในที่นี้จึงไม่ได้หมายความถึงแค่อาหาร แต่ยังหมา ยถึง ‘ศรีรัตน์ ศรีภิญโญ’ นางงามสาวประจำจังหวัดตราดที่มาพร้อมสูตรลับความอร่อยของอาหารภาคตะวันออกที่สืบทอดมาอย่างยาวนาน หรือคุณแม่ของพี่แอ๊กอีกด้วย ดังนั้นภาพของศรีตราดที่ปรากฏอยู่ในทุกที่ไม่ว่าจะเป็นโลโก้ร้าน บรรจุภัณฑ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจนผนังของร้าน จึงเป็นภาพของคุณแม่พี่แอ๊กในวันที่เคยสวมมงกุฎนางงามขึ้นเวทีประกวดนางงามจังหวัดตราด
พี่แอ๊กเล่าว่า ที่ตนเองตั้งใจสร้างหญิงสาวที่ชื่อ ‘ศรีตราด’ ขึ้นมานั้น เป็นเพราะเชื่อว่า การที่คนมารับประทานอาหารในแต่ละครั้งนั้น ไม่ได้เป็นเพียงแค่การมากินอาหารเพื่อความอิ่มและอร่อยเท่านั้น แต่ยังมากินประสบการณ์ที่เกิดขึ้นภายในร้านและเรื่องราวเบื้องหลังจานอาหาร พี่แอ็กจึงมองศรีตราดเป็นมากกว่าแค่ร้านอาหาร แต่เป็นเหมือนหนังสือเล่มหนึ่ง และในฐานะนักเขียน สิ่งที่จะทำให้ผู้คนอินไปเรื่องราวในหนังสือได้มากที่สุด ก็คือการทำให้คนรู้สึกผูกพันธ์กับตัวเอกของเรื่อง
“การเดินทางของความอิจฉา”
การเดินทางของศรีตราดเริ่มต้นขึ้นจาก “ความอิจฉา”
อิจฉาที่ทุกคนรู้จักแต่อาหารเหนือ อาหารใต้ อาหารอีสาน ฯลฯ
แต่ทำไมไม่มีใครรู้จักอาหารภาคตะวันออก ?
คำถามนี้จึงมาพร้อมกับความทรงจำวัยเด็กที่พี่แอ๊กได้ลิ้มรสอาหารฝีมือคุณแม่ จึงอยากจะส่งต่อให้คนอื่นได้ลิ้มรสนั้นด้วย โดยเฉพาะชาวต่างชาติที่ไม่ว่าจะมาเมืองไทยสักกี่ครั้ง ก็ได้ทานแต่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวานและข้าวเหนียวมะม่วง
พี่แอ๊กเล่าว่าอาหารภาคตะวันออก คือ อาหารที่มีส่วนผสมของอาหารป่าและอาหารทะเล ซึ่งรสชาติจะอยู่ตรงกลางระหว่างอาหารภาคกลางและภาคใต้ คือรสเผ็ดเข้มน้อยกว่าภาคใต้ แต่มีรสจัดกว่าอาหารภาคกลาง และเมื่อการทำสวนผลไม้ถือเป็นอาชีพหลักของชาวภาคตะวันออก ผลไม้จึงมักจะถูกนำมาแปรรูปเป็นอาหารจนกลายเป็นจุดเด่นของภาคตะวันออกไปโดยปริยาย
วัตถุดิบหลักของศรีตราดส่วนมากได้มาจากชุมชนในภาคตะวันออก การปรุงอาหารนั้นเน้นไปที่การดึงรสของวัตถุดิบหลักออกมาให้มากที่สุด ด้วยการไม่ใส่น้ำมันหอยและผงชูรส และใช้น้ำกะทิคั้นสดวันต่อวันในการปรุงอาหาร ทำให้รสชาติและรสสัมผัสของอาหารมีความกลมกล่อมและดีต่อร่างกาย
หลนปูไข่ เปิดมาด้วยเมนูแรกกับ หล่นปูไข่ทั้งตัว เสิร์ฟมาอุ่นๆ พร้อมผักสดนานาชนิด รสชาตินุ่มละมุนกลมกล่อมและอ่อนโยนจนกินเท่าไหร่ก็ไม่มีเบื่อ เมนูนี้ใช้วัตถุดิบจากทั้งเนื้อปูและไข่ปู ปรุงรสเพิ่มกลิ่นหอมด้วยเครื่องสมุนไพร และใช้กะทิคั้นสดวันต่อวัน
คั่วตะไคร้ปลาทู เมนูต่อมามีชื่อว่า “ คั่วตะไคร้ปลาทู ” เมนูนี้มีรสชาติค่อนข้างเผ็ดจัดจ้าน ใช้วัตถุดิบจากปลาทูที่เลาะแต่เนื้อผัดกับเครื่องแกงป่าของภาคตะวันออกแห้งๆ ได้ทั้งความเผ็ดและความหอมของตะไคร้ ทานพร้อมหลนปู่ไข่ก็ช่วยส่งเสริมรสชาติกันได้เป็นอย่างดี
แกงมัสมั่นไก่ทุเรียน แกงมัสมั่นที่คนไม่กินทุเรียนได้ยินอาจจะตกใจ แต่จริงๆ ทางร้านเลือกใช้แต่ทุเรียนดิบห่ามที่ยังไม่สุก ตามแนวทางการถนอมอาหารของคนตราดที่มีสวนผลไม้เยอะ จึงทำให้ไม่มีกลิ่นทุเรียนออกมามากอย่างที่คิด โดยผิวสัมผัสจะมีลักษณะคล้ายเนื้อมันฝรั่ง แต่มีรสชาติที่พิเศษกลมกล่อมกว่า ยิ่งมาผสมผสานกับเครื่องแกงเข้มข้นที่ไม่หวานจัดแต่กลมกล่อมกำลังดียิ่งกินเข้ากับข้าวสวยร้อนๆ แบบสุดๆ
ปลาเห็ดโคนทอดขมิ้น มาต่อกันที่ของทอดๆ บ้างกับเมนูที่มีชื่อว่า “ปลาเห็ดโคนทอดขมิ้น” ใช้วัตถุดิบจากปลาทรายที่เลาะเอาแต่เนื้อไปชุบทอดกับแป้งจนกลายเป็นสีเหลืองทอง เสิร์ฟพร้อมกับกระเทียมและขมิ้นทอดอย่างจุใจ ให้รสสัมผัสกรุบกรอบแถมยังหอมกลิ่นขมิ้นจนเคี้ยวเพลินแทบจะหยุดไม่อยู่
ข้าวคลุกน้ำพริกเกลือ ข้าวผัดน้ำพริกเกลือ ที่นำข้าวสวยร่วนซุยมาผัดกับน้ำพริกหรือน้ำจิ้มซีฟู้ดแซ่บๆ แบบภาคตะวันออก และปรุงรสเป็นอย่างดี จนได้ออกมาเป็นข้าวผัดสีเหลืองอ่อนร่วนแห้งกำลังดี กินพร้อมกับหมูชิ้น ไข่ต้มยางมะตูม และเสริมรสชาติของทะเลด้วยกุ้งลวกตัวโตๆ ช่วยเพิ่มรสชาติให้หลากหลายมากยิ่งขึ้น
ปลาน้ำดอกไม้พล่า เนื้อปลาสดนำมาปรุงสุกด้วยวิธีสะดุ้งการกับน้ำส้มสายชู ใส่เกลือเพิ่มความเค็มกินคู่กับผักสดนานาชนิดและน้ำจิ้มสูตรพิเศษแบบภาคตะวันออก ที่มาทำจากขนมถั่วตัดตำละเอียดผสมกับน้ำพริกเกลือ ที่ให้รสหวานอมเปรี้ยวแถมยังกรุบกรอบกำลังดี แนะนำว่าถ้าได้มาให้รีบลองทาน อย่าทิ้งไว้นานเพราะถ้าทิ้งไว้จะทำให้ถั่วตัดที่อยู่ในน้ำจิ้มได้รับความชื้นจนทำให้ขาดสัมผัสพิเศษที่กรุบกรอบไป
บ้าน และ ความรู้สึก
สีแดง คือ ความสวยงาม และ สีน้ำเงินคือ ความเข้มเเข็ง
หนึ่งในความฝันของพี่แอ๊กคือการได้มีร้านอาหารที่ให้ความรู้สึกเสมือนเป็นบ้านของตัวเองไปในตัว แต่บ้านหลังนี้จะต้องไม่ใช่บ้านของพี่แอ๊กเท่านั้น แต่เป็นบ้านของ ‘ศรีตราด’ หญิงสาวชาวตราดที่เกิดขึ้นมาจากการรวมลักษณะนิสัยและตัวตนของพี่แอ๊กกับคุณแม่เข้าด้วยกัน สีแดงเเละสีน้ำเงิน จึงถูกนำมาใช้เป็นสีหลักในการสร้างตัวตนของศรีตราดซึ่งถ่ายทอดออกมาผ่านการตกแต่งทั้งหมดภายในร้าน เพื่อสื่อสารถึงตัวตนของคุณแม่พี่เเอ็คที่มีทั้งความสวยงามจากการที่เคยเป็นนางงามจังหวัดตราด และความเข้มแข็งที่เห็นจากในตัวของคุณแม่
จานที่สวยที่สุดในบ้าน
พี่แอ๊กบอกว่าแต่ละโต๊ะจะมีจานใบสวยแบบนี้เพียงแค่เท่าจำนวนคนเท่านั้น ส่วนอาหารที่ยกมาเสิร์ฟจะถูกใส่อยู่ในจานบ้านๆ ลายดอกไม้ที่มักจะแถมมาเวลาซื้อกับข้าว ด้วยความตั้งใจอยากจำลองความรู้สึกของการพยายามเลือกจานอาหารใบเก่งที่สวยที่สุดในบ้านออกมาต้อนรับแขก ถึงแม้ว่าจะมีจานสวยๆ เหล่านั้นอยู่เพียงแค่ไม่กี่ใบก็ตาม
กุหลาบแดง
ถ้าได้สังเกตเห็นดอกกุหลาบสีแดงที่วางอยู่บนโต๊ะอาหาร แสดงว่าโต๊ะเป็นโต๊ะที่ได้ถูกจองไว้แล้ว พี่เเอ๊กเล่าให้กับเราฟังว่า ดอกกุหลาบสีแดงนี้เป็นดอกไม้ที่คุณแม่ของพี่เเอ๊กชื่นชอบเป็นพิเศษ ก็เลยนำมาใช้ในการจองโต๊ะของร้าน
สายตาของ “ศรีตราด”
บรรยากาศภายในร้านจึงจำลองขึ้นมาเป็นใต้ถุนของบ้านไม้สไตล์โบราณ ที่ประดับตกแต่งด้วยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่มาจากเรื่องราวชีวิตและการเดินทางเข้ากรุงเทพของศรีตราด ไม่ว่าจะเป็นภาพถ่ายที่ประดับตกแต่งริมฝาผนัง ซึ่งเป็นเสมือนการอัดขยายภาพจากกล้องฟิล์มที่ศรีตราดพกมาใช้ถ่ายตลอดทาง ตั้งแต่ตราดเรื่อยมาจนถึงกรุงเทพ และเสียงเพลงแจ๊สจากแผ่นเสียงแผ่นโปรดที่สาวทันสมัยในยุคนั้นอย่างศรีตราดชื่นชอบ
บาร์ รับรอง
ห้องแรกที่เราเข้ามาเจอนั้นเป็น บาร์ค็อกเทล ให้ความรู้สึกเหมือนห้องรับรองของแขกที่เข้ามาบ้าน ด้วยค็อกเทลวิธีคิดแบบไทยๆ ที่เชื่อว่าการผสมผสานระหว่างผลไม้ไทยท้องถิ่นกับเหล้านานาชนิดสามารถทำได้อย่างลงตัว เช่น เมนู Matoom Sour ที่มีส่วนผสมของมะตูม หรือ เมนู Siam Ruby ให้กลิ่นหอมจากทับทิมและใบเตย
การเดินทางของผู้หญิงคนนี้ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ พร้อมกับความตั้งใจที่อยากจะเปลี่ยนความไม่คุ้นเคยให้กลายเป็นความเข้าใจ และบอกเล่าเรื่องราวของอาหารภาคตะวันออกซึ่งเธอพกใส่กระเป๋าเดินทางมาถึงเมืองกรุงให้กระจายออกไปสู่คนจำนวนมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
สุดท้ายแล้ว ผู้หญิงคนนี้ที่ชื่อ ศรีตราด ไม่เพียงทำให้เราได้รู้จักถึงอาหารภาคตะวันออกที่กลมกล่อม แต่ยังมอบประสบการณ์ที่อบอุ่นและสบายใจคล้ายได้กลับบ้าน ผ่านรายละเอียดต่างๆ ที่บรรจงแทรกไว้ในทุกพื้นที่ของร้าน จนทำให้เรารู้สึกว่า
ถ้าผู้หญิงชื่อศรีตราดคนนี้มีอยู่จริง เธอก็คงเป็นผู้หญิงที่น่ารักมากๆ
และเธอคงไม่เสียดายเลยที่วันนั้นได้เก็บกระเป๋าเดินทางเข้ามา ณ ที่แห่งนี้
Info
ร้านอาหารศรีตราด
Contributors
จิตวัต โซวพิทักษ์วัฒนา
Writerวัยรุ่นตอนปลายที่เชื่อแล้วว่า "พุงเบียร์" นั้นมีอยู่จริง