close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Lost Neighborhood of Central Park

Trawell
Contact search
Live Well 1.2k

Lost Neighborhood of Central Park

7 January 2021 เรื่อง แทนไท นามเสน

ทุกๆ เมืองใหญ่ในโลกล้วนเกิดขึ้นจากการสร้างหรือทำลายของสิ่งเก่าสิ่งใหม่ ผสมปนเปกันไปตลอดระยะเวลาการพัฒนาเมืองนั้นๆ อยู่เสมอ ไม่เว้นแม้แต่มหานครนิวยอร์ค เจ้าสวนสาธาณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่าง เซ็นทรัลพาร์ค (Central Park) ปอดขนาดใหญ่ประจำเมืองที่ไม่เคยหลับไหลที่ดึงดูดผู้คนทั้งในและนอกประเทศกว่า 37 ล้านคนต่อปีให้มาเข้าชม

 

แต่ใครจะล่วงรู้ว่าภายใต้สวนสาธารณะที่ใหญ่ที่สุดในโลกแห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นบนพื้นที่ของอดีตนิคมชาวอัฟริกัน-อเมริกันที่ใหญ่ที่สุดของแห่งหนึ่งในเมืองนิวยอร์ค ชุมชนที่เกิดขึ้นจากเหล่าเสรีชนที่สืบย้อนอดีตไปเมื่อครั้งยุคประเทศพึ่งถือกำเนิด ซึ่งล่าสุดเรื่องราวพวกเขาพึ่งได้รับการค้นพบในเวลาไม่นานมานี้เอง และยังมีการค้นพบเรื่องราวของพวกเขามากขึ้นเรื่อยๆ

ไปรู้จักเรื่องราวของพวกเขากัน

ที่มาภาพ https://s27107.pcdn.co/wp-content/uploads/2018/03/centralpark.jpg

เซ็นทรัลพาร์ค (Central Park) คือสวนสาธารณะใจกลางมหานครนิวยอร์ค และเจ้าของตำแหน่งสวนสาธารณะที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก และเป็นพื้นที่สีเขียวสำคัญของชาวเมือง ด้วยพื้นที่ครอบคลุมกว่า 3.41 ตารางกิโลเมตรหรือราว 2100 ไร่ สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ ค.ศ.1850 ปัจจุบันเซ็ลทรัลพาร์คมีผู้เข้าใช้กว่า 37 ล้านคนต่อปี และยังเป็นต้นแบบที่สำคัญในการสร้างอุทยานสวนจตุจักร หนึ่งในปอดสำคัญของชาวกรุงเทพมหานครอีกด้วย

ย้อนไปใน ช่วงปี ค.ศ.1821-1855 ประชากรในเมืองนิวยอร์คเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมาก ทำให้มีแผนการขยับขยายเมืองขึ้นไปยังทางตอนเหนือของเกาะแมนฮัตตัน (Manhatton) ซึ่งมีการวางแผนเลือกใช้พื้นที่ตอนบนของเกาะแมนฮัตตัน ตั้งแต่ถนนหมายเลข 59 ไปจนถึงถนนหลายเลข 110 ทำเป็นสวนสาธารณะประจำเมือง ซึ่งก็คือบริเวณของเซ็นทรัลพาร์คในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ https://upload.wikimedia.org/wikipedia/commons/8/80/1868_Vaux_%5E_Olmstead_Map_of_Central_Park%2C_New_York_City_-_Geographicus_-_CentralPark-CentralPark-1869.jpg

โดยแบบแปลนของสวนสาธารณะแห่งนี้ ได้รับการออกแบบโดยเฟรดเดอริก ลอว์ ออมสเตดส์ (Frederick Law Omstead) สถาปนิกชาวอเมริกันผู้ได้รับการยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งภูมิสถาปัตยกรรมอเมริกา และคัลเวิร์ต โวลซ์ (Calvert Vaux) สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นแบบแปลนที่ชนะเลิศจากการประกวดโดยสถาปนิกทั่วประเทศในเวลานั้น (ในรูปคือแบบแปลนสวนสาธารณะเซ็นทรัลยุคแรกของออมสเตดส์-โวลซ์ ปี ค.ศ.1868)

ที่มาของภาพ https://static01.nyt.com/images/2019/11/28/opinion/28seneca5/29seneca5-mobileMasterAt3x.jpg

แม้โครงการสร้างเซ็นทรัลพาร์คจะเริ่มต้นในปี ค.ศ.1857 แต่พื้นที่ดั้งเดิมของเซ็นทรัลพาร์คนั้นใช่ว่าจะเป็นที่รกร้าง แต่ประกอบไปด้วยพื้นที่นิคมอยู่อาศัยจำนวนมากของชาวอัฟริกัน-อเมริกันและชาวไอริช ที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานบริเวณนี้ตั้งแต่ปี ค.ศ.1825 โดยส่วนพื้นที่อยู่อาศัยของชาวบ้านตั้งอยู่ในหมู่บ้านขนาดใหญ่ที่มีชื่อว่า หมู่บ้านเซเนกา (Seneca Village)

จากรูปคือแผนที่ของหมู่บ้านเซเนกาจากการสำรวจลงพื้นที่ของเอกเบิร์ต ลูโดเวียส วีลลอร์ (Egbert Ludovicus Viele) หนึ่งทีมวิศวกรที่ลงสำรวจพื้นที่สำหรับก่อสร้างเซ็นทรัลพาร์ค

ที่มาของภาพ https://cdn.face2faceafrica.com/www/wp-content/uploads/2019/01/historic-map.jpg

หมู่บ้านเซเนกาคือนิคมชาวอัฟริกัน-อเมริกันซึ่งตั้งอยู่ใจกลางพื้นที่เซ็นทรัลพาร์คในปัจจุบัน โดยก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ.1825 โดยกลุ่มฟรีแบล็ก (Free Black) ซึ่งเป็นคำที่ใช้อธิบายเหล่าเสรีชนชาวอัฟริกัน-อเมริกันที่ไม่ได้มีสถานะเป็นทาสตั้งแต่สงครามประกาศอิสรภาพ (American Revolution 1775)

ชาวชุมชนเซเนกาเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงปี ค.ศ.1827 เนื่องจากสภาประจำรัฐนิวยอร์คได้ออกกฏหมายประกาศให้การค้าทาสเป็นเรื่องผิดกฏหมาย ชาวอัฟริกัน-อเมริกันจำนวนมากจึงหลั่งไหลเดินทางเข้ามาเป็นสมาชิกของที่นี่ เช่นเดียวกับชาวไอริชที่เดินเข้ามาอยู่อาศัยร่วมด้วย ทำให้เซเนกากลายเป็นชุมชนชาวอัฟริกัน-อเมริกันที่ใหญ่ในนิวยอร์คช่วงสงครามกลางเมืองสหรัฐ (American Civil War) โดย 2 ใน 3 ของประชากรเป็นชาวอัฟริกัน-อเมริกัน ในขณะส่วนที่เหลือเป็นชาวไอริช

ที่มาของภาพ https://kentondejong.com/public/images/seneca/seneca_map_on_gmap.jpg

กระทั่งปี ค.ศ.1857 ด้วยแผนการสร้างสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์ค ซึ่งกินพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้าน ทำให้ชาวนิคมทั้งหมดต้องย้ายถิ่นฐานออกจากพื้นที่ ทำให้เรื่องราวของหมู่บ้านอัฟริกัน-อเมริกันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของนิวยอร์คต้องจบลงตั้งแต่นั้น พร้อมๆกับหลักฐานการมีอยู่ของชุมชนเก่าแก่ที่สูญหายไปตามกาลเวลา

โดยที่ตั้งของหมู่บ้านก่อนที่จะถูกทำลายนั้น อยู่บริเวณตั้งแต่ถนนที่ 82 จนถึงถนนที่ 89 ทางด้านตะวันตกของเซ็นทรัลพาร์ค บริเวณใกล้กับพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (American Museum of Natural History – AMNH) ในปัจจุบัน

ที่มาของภาพ https://pictures.abebooks.com/ANTIPODEAN/30508842277.jpg 07

กระทั่ง 100 กว่าปีต่อมา ในปี ค.ศ.1992 หนังสือ “The Park and the People: A History of Central Park” โดยรอย โรเซิร์นซไวร์ก (Roy Rosenzweig) และอลิซเบธ แบล็คมาร์ (Elizabeth Blackmar) สองนักประวัติศาสตร์ชาวอเมริกันได้เผยแพร่เนื้อหาเกี่ยวกับร่องรอยของอดีตนิคมใต้เซ็นทรัลพาร์คแห่งนี้ ซึ่งทำให้เกิดโครงการความร่วมมือทางประวัติศาสตร์และโบราณคดีในชื่อ “The Seneca Village Project” ซึ่งก่อตั้งในปี ค.ศ.1998 โดยเป็นโครงการที่เป้าหมายค้นหาและรื้อฟื้นเรื่องราวของอดีตนิคมชาวอัฟริกัน-อเมริกันที่ใหญ่ที่สุดในเมืองนิวยอร์คให้กลับมาอีกครั้ง โดยในปี ค.ศ.2004 คือปีแรกที่นักโบราณคดีได้ขุดสำรวจเซ็นทรัลพาร์ค ณ บริเวณที่ดั้งเดิมของหมู่บ้าน และโครงการก็ยังคงดำเนินการเรื่อยมาในปี ค.ศ.2005 จนถึงปัจจุบัน

ที่มาของภาพ http://projects.mcah.columbia.edu/seneca_village/panos/pano6/

โดยในปี ค.ศ.2011 แนน รอธไชด์ (Nan Rothschild) นักโบราณคดีและศาสตราจารย์ประจำคณะมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University) นำทีมนักศึกษาขุดค้นหมู่บ้านเซเนกา โดยมีเป้าหมายขุดค้นในพื้นที่ส่วนที่อยู่อาศัยของหมู่บ้าน โดยอ้างอิงจากแผนที่สำมะโนครัวประชากรที่เขียนขึ้นในช่วงก่อนการสร้างเซ็นทรัลพาร์ค เพื่อค้นหาหลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวบ้าน โดยผลการำสำรวจมีการค้นพบโบราณวัตถุจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นชื้นส่วนเครื่องใช้ภายในบ้าน รองเท้าขนาดเล็กที่สันนิษฐานว่าเป็นของเด็กในสมัยนั้น ซึ่งปีเป็นการขุดค้นทางโบราณคดีครั้งสำคัญของโครงการนี้

ที่มาของภาพ https://s3.amazonaws.com/assets.centralparknyc.org/new_images/programs/prog-rect@2x-Discover-Seneca-Village-Signage.jpg?mtime=20191028162311

ปัจจุบันมีการเผยแพร่เรื่องราวของหมู่บ้านเซเนกาสู่สาธารณชนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ต่างๆ ของเซ็นทรัลพาร์คมีการติดตั้งป้ายบอกเล่าเรื่องราวของอดีตนิคมแห่งนี้ หรือมีกิจกรรมเดินสำรวจค้นหาหมู่บ้านเซเนกาโดยทีมไกด์ประจำสวนสาธารณะ เป็นต้น

ซึ่งในปี ค.ศ.2019 ที่ผ่านมา เทศบาลเมืองนิวยอร์คได้ประกาศสดุดีเกียรติประวัติแก่ครอบครัวลีออน (The Lyons Family) ซึ่งเป็นครอบครัวเชื้อสายอัฟริกัน-อเมริกันที่เป็นผู้ดูแลพื้นที่หมู่บ้านเซเนกาในช่วงรุ่งเรือง (หนึ่งในบุคคลสำคัญของตระกูลลีออน คือ มาริชา เรมอนด์ ลีออน (Maritcha Remond Lyons) ครูและนักปราศัยชาวอัฟริกัน-อเมริกัน เธอเป็นชาวอัฟริกัน-อเมริกันคนที่สองในประวัติศาสตร์ที่ได้รับตำแหน่งทางการศึกษาในฐานะรองอาจารย์ใหญ่ ในช่วงปี ค.ศ.1892-1929) ซึ่งสิ่งนี้คือหนึ่งในการฟื้นฟูทางประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญต่อเรื่องราวของชุมชนชาวอัฟริกัน-อเมริกันที่สำคัญที่สุดแห่งหนึ่งของมหานครนิวยอร์คแห่งนี้

แหล่งข้อมูลอ้างอิง:
https://www.centralparknyc.org/attractions/seneca-village-site
https://www.centralparknyc.org/blog/uncovering-seneca-village
https://www.voicetv.co.th/read/45331
https://www.ny1.com/nyc/all-boroughs/news/2020/02/05/central-park-seneca-village-history-uncovered
https://www.ny1.com/nyc/all-boroughs/news/2020/02/05/central-park-seneca-village-history-uncovered

The Sad Tale Behind Central Park’s Destruction of Seneca Village


https://anthropology.columbia.edu/content/nan-rothschild
http://projects.mcah.columbia.edu/seneca_village/

This once-thriving black community in NYC was destroyed to make way for Central Park



https://en.wikipedia.org/wiki/Central_Park#History
https://en.wikipedia.org/wiki/Seneca_Village
https://en.wikipedia.org/wiki/Maritcha_Remond_Lyons
https://en.wikipedia.org/wiki/Free_Negro
https://en.wikipedia.org/wiki/Egbert_Ludovicus_Viele
https://en.wikipedia.org/wiki/Frederick_Law_Olmsted
https://en.wikipedia.org/wiki/Calvert_Vaux

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read