เรื่องเล่าเล็กๆ จากบันทึกและสังเกตการณ์ในระหว่างการลงพื้นที่สำรวจชุมชนปกาเกอะญอ บนดินแดนที่สูงที่สุดของประเทศ กับวัฒนธรรมการปลูกข้าวบนที่สูงที่ติดตัวกลุ่มชาติพันธุ์นี้มาช้านาน ซึ่งไม่เพียงสะท้อนถึงความเข้มข้นของเส้นสายทางวัฒนธรรมที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างแข็งขัน แต่ยังสะท้อนถึงความผูกพันสามัคคีและน้ำใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันที่งดงามไม่แพ้ข้าวแต่ละรวงที่สุกงอมของหมู่บ้านแห่งนี้แต่อย่างใด
เดือนพฤศจิกายน
ดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
ต้นข้าวสุกงอมล้มราวกับลู่ไปตามแรงลม อันเป็นผลของการตระเตรียมที่นาของชาวบ้านให้พร้อมสำหรับการเกี่ยวข้าว สัญญาณแห่งฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวของชาวปกาเกอะญอ
ในหนึ่งปี ชาวปกาเกอะญอจะปลูกข้าวเพียงหนึ่งครั้ง โดยจะเริ่มฤดูกาลเพาะปลูกของตนในช่วงเดือนมิถุนายนของทุกปี เรื่อยมาจนถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในเดือนพฤศจิกายน ดังนั้นช่วงเวลาที่ท้องนาของหมู่บ้านกลางหุบเขาแห่งนี้จะปลดปล่อยความเขียวขจีอันอุดมสมบูรณ์ นำผู้คนทั่วสารทิศมาชื่นชมความงดงาม จะอยู่ในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายน ก่อนที่ข้าวทุกต้นจะสุกงอมพร้อมเก็บเกี่ยวในช่วงแรกเริ่มของฤดูหนาวที่กำลังจะมาถึง
กว่าครึ่งชั่วโมงจากอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ผ่านถนนจอมทอง-อินทนนท์ ถนนเส้นสำคัญที่มุ่งสู่ยอดเขาที่สูงที่สุดของประเทศไทย เลี้ยวเข้าสู่ถนนเส้นหนึ่งริมห้วยผาหมอน ลัดเลาะไปตามผิวถนนคอนกรีตสลับกับดินลูกรังบนสันเขาในป่าลึกเข้าไปยังหมู่บ้านเล็กๆ แห่งหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ
แปลงนาที่แบ่งออกเป็นส่วนๆ ไล่ลำดับตามชั้นความสูงของเชิงเขาจรดลงสู่ที่ราบ สีเหลืองสลับเขียวแซมกันไป เกิดเป็นเวิ้งขนาดใหญ่ที่ใจกลางเต็มไปด้วยท้องนา รายล้อมด้วยขุนเขาทุกทิศทาง เป็นทิวทัศน์แรกที่เปรียบเสมือนการต้อนรับเราเข้าสู่หมู่บ้านแห่งนี้
นาขั้นบันไดอันเป็นเอกลักษณ์ คือจุดที่ทำให้ที่นี่เริ่มเป็นที่รู้จักของโลกภายนอก ภูมิปัญญาจากวิถีชีวิตชาวนาบนที่สูงของพวกเขา ตกทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษก่อนจะแปรสภาพมาเป็นจุดเด่นสำคัญของการท่องเที่ยวเชิงชุมชนของที่นี่มาเป็นเวลากว่า 10 ปี
เรากำลังพูดถึง ‘บ้านผาหมอน’ หมู่บ้านปกาเกอะญอระดับร้อยหลังคาเรือนที่ซ่อนตัวอยู่ในหุบเขาสูง รายล้อมด้วยป่าอันอุดมสมบูรณ์ แห่งอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ หนึ่งในหมู่บ้านมากมายของชาวปกาเกอะญอที่อพยพมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในภาคเหนือของประเทศไทย
ด้วยภูมิทัศน์ที่สวยงาม หมู่บ้านได้กลายเป็นจุดสนใจของนักท่องเที่ยวทุกสารทิศ ชาวปกาเกอะญอที่นี่จึงตัดสินใจสร้างบ้านพักโฮมสเตย์หลังแรกขึ้นในชุมชน ในชื่อ Bamboo Pink House เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวผู้ต้องการเข้ามาสัมผัสวิถีชีวิตชาวนาปากเกอะญอ ซึ่งชาวบ้านร่วมมือลงแรงสร้างบ้านเหล่านี้ขึ้นมาเพียงไม่กี่หลัง โดยยึดหลักการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม เพื่อให้หมู่บ้านยังคงเป็นหมู่บ้านที่คุ้นเคย และพวกเขาสามารถดูแลบ้านพักโฮมสเตย์ของชุมชนนี้ได้ตามกำลังที่มี
เพราะการท่องเที่ยวเป็นเพียงรายได้หนึ่งเท่านั้น และชาวบ้านทุกครัวเรือนยังจำเป็นต้องดำรงชีพด้วยเกษตรกรรมเป็นหลัก ทั้งยังมีนักท่องเที่ยวที่แวะเวียนกันเข้ามาเรียนรู้วิถีชุมชนแห่งนี้ตลอดทั้งปี ดังนั้นหากไม่ใช่การเข้ามาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเหมือนในครั้งนี้ การจะได้จับจองเข้าพักโฮมสเตย์ของที่นี่จึงไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
เรามาที่นี่ในวันที่ชาวบ้านทั้งหมู่บ้านพร้อมใจกัน “มาเด๊าะ มากะ” เพื่อเก็บเกี่ยวผลผลิตหลังจากที่รอมานานหลายเดือน
วัฒนธรรมการ “มาเด๊าะ มากะ” หรือที่วัฒนธรรมชาวนาในที่ราบลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาอาจจะรู้จักในคำว่า “ลงแขก” นั้น เริ่มต้นตั้งแต่การระดมสมาชิกทั้งชายหญิงของชาวปากเกอะญอแต่ละบ้าน ออกจากที่พักตั้งแต่เช้าตรู่ ตระเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อมสรรพก่อนจะเดินลงไปยังที่นาของตน และเริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยที่นาจะแบ่งมากน้อยกันตามกำลังสมาชิกและมรดกที่ตกทอดกันในครัวเรือน หลายต่อหลายครั้งการวันเก็บเกี่ยวจะใช้เวลามากกว่าหนึ่งวัน เพราะที่นามักจะกินพื้นที่หลายไร่ เจ้าของนาจึงจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนบ้านให้มาช่วยกันเก็บเกี่ยว ซึ่งเขาจะตอบแทนน้ำใจนี้โดยการกลับไปช่วยเก็บเกี่ยวข้าวในนาของเพื่อนบ้านเหล่านั้นในวันต่อๆไป วนเวียนกันไปทั่วหมู่บ้านและเลยไปยังหมู่บ้านปกาเกอะญออื่นๆในหุบเขา ซึ่งเป็นเรื่องปกติโดยทั่วไปพวกเขา แต่อาจจะเป็นเรื่องหาได้ยากในสังคมเมืองซึ่งอาศัยความปัจเจกที่เราจากมา
ในการเกี่ยวข้าว แต่ละกำที่ชาวบ้านเกี่ยวมาได้ พวกเขาจะนำข้าวแต่ละกำวางไว้บนซังข้าวซ้อนสลับกันไป โดยแต่ละคนจะแบ่งหน้าที่กันชัดเจน คนหนึ่งเกี่ยว คนหนึ่งมัด คนหนึ่งวางข้าวไว้บนซังข้าวให้เป็นระเบียบ โดยข้าวแต่ละรวงที่เกี่ยวจะถูกมาวางรวมกันบนซังข้าวไว้จนสามารถมัดเข้าเป็นหนึ่งฟ่อนใหญ่ๆ ได้ ซึ่งปกติพวกเขาจะมาเกี่ยวข้าวแล้ววางทิ้งบนซังข้าว 3-4 วันเพื่อให้ข้าวแห้งสนิทจากความชิ้น ทั้งยังให้ข้าวหลุดจากรวงง่ายในวันที่การ “ตีข้าว” เดินทางมาถึง
กองข้าวไหนที่พร้อมสำหรับการตีข้าวแล้ว ชาวบ้านจะแบกรวงข้าวที่เป็นรวมกันเป็นกองใหญ่ มาวางไว้บนลานกว้างๆ ซึ่งก็คือที่นาที่เกี่ยวข้าวเสร็จแล้วจนเหลือไว้แต่ซังข้าว นำผ้ากระสอบขนาดใหญ่มาวางขึงไว้รองพื้น เรียกตรงนั้นกันว่า “ลานตีข้าว” ซึ่งจะเต็มไปด้วยกองข้าวจากหลากหลายบ้านมารวมกัน
รวงข้าวแต่ละกองถูกวางเรียงกันไว้บนลาน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการตีข้าว โดยแต่ละกองจะจัดแบ่งเอาไว้ให้พอดีสำหรับการมัดด้วยไม้ตีข้าว หากข้าวกองไหนมีน้อยเกินไป กองข้าวจะหลวมและจะหล่นจากไ้ม้ตีข้าว แต่ถ้าข้าวกองไหนมีมากไป ตีข้าวแต่ละครั้งก็จะต้องใช้แรงมากเพราะกองข้าวมีน้ำหนักมากเกินพอดี
ไม้ตีข้าวของชาวปกาเกอะญอทำจากแท่งไม้ยาวสองแท่ง ร้อยกันด้วยเชือกยาว ซึ่งวิธีการใช้คือใช้เชือกคล้องรวงข้าวที่วางเป็นกองทั้งหมดในคราวเดียว แล้วใช้ไม้ทั้งสองแท่งบิดไปเป็นวงกลมเพื่อให้เชือกมัดรวงข้าวกองนั้นๆได้หมด จนกระทั่งไม้ทั้งสองชิ้นมาบรรจบกันเป็นที่จับสำหรับตีข้าว
หลังจากมัดข้าวเข้าไว้ด้วยกันแล้ว ชาวบ้านจะออกแรงตีข้าว โดยจะจับไม้ตีข้าวทั้งสองให้มั่น ก่อนจะยกกองข้าวทั้งหมดขึ้นเหนือศีรษะ แล้วใช้แรงทั้งหมดที่มีกระหน่ำออกแรงตีข้าวลงบนแผงไม้ขนาดเล็กที่ตั้งอยู่กลางลานตีข้าวหนึ่งครั้ง จากนั้นจะเอากองข้าวมาปรับจังหวะใหม่โดยพักไว้ที่ต้นขา ทำแบบนี้วนไปเรื่อยๆจนกว่าจะตีข้าวกองนั้นๆเสร็จ โดยจะตีข้าวประมาณ 3-4 ครั้งต่อข้าวหนึ่งกอง โดยชายหญิงร่างกายแข็งแรงจากแต่ละบ้านจะมาวนเวียนช่วยกันตีให้ในแต่ละลานตีข้าวตลอดทั้งวัน
การตีข้าวแต่ละครั้งจะต้องจับไม้ตีข้าวให้มั่น เพราะต้องกะให้กองข้าวตีลงบนแผงไม้พอดิบพอดี ถ้ากองข้าวเอียงระหว่างตีก็ต้องเอากองข้าวมาปรับตำแหน่งใหม่ก่อนจะตีครั้งต่อไป ดังนั้นเพื่อประหยัดแรงและเวลา การจับจังหวะแรงตนเองและตำแหน่งของกองข้าวก่อนจะตีลงไปแต่ละครั้งจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก
ชาวปกาเกอะญอเชื่อกันว่า หากฟาดข้าวแล้วต้องฟาดให้หมดเสียในคราวเดียว จะใช้เวลานานแค่ไหนก็ต้องฟาดเสียให้สิ้น ไม่เช่นนั้นจะถือเป็นอัปมงคลในครอบครัว ซึ่งแท้จริงมาจากกุศโลบายที่ชาวนาใช้ในการป้องกันการขโมยข้าว เพื่อให้การตีข้าวทำเสียให้เสร็จสิ้นเรียบร้อยในหนึ่งวันโดยเร็วนั่นเอง
ข้าวที่ตีแต่ละครั้ง จะฟาดลงบนแผงไม้เตี้ยๆ เพื่อรับแรงกระแทกจากการฟาดข้าว ให้เมล็ดข้าวหลุดออกจากต้น กระจายไปบริเวณรอบๆ และเมื่อใดที่กองเมล็ดข้าวสูงขึ้นจนเริ่มถมแผงไม้จนเต็ม จะต้องขยับแผงไม้ให้หลุดออกจากกองเมล็ดข้าวทุกครั้ง ทำเช่นซ้ำไปเรื่อยๆ จนกว่าจะเสร็จงาน
เมื่อได้เมล็ดข้าวเป็นที่พอใจแล้ว ชาวนาปกาเกอะญอหลายคนจะตักกองเมล็ดข้าวที่กระจัดกระจายไปทั่วลานตีข้าวให้มารวมกันเป็นที่เดียว
ในขณะที่อีกคนจะไปหยิบเครื่องตัดหญ้าที่มีใบมีดทำจากท่อพิวีซีออกมาเตรียมใช้งานสำหรับเป่าเมล็ดข้าวที่เสียและเศษปฏิกูลต่างๆที่ไม่จำเป็นออกจากกองข้าว โดยจะมีคนคอยตักข้าวแต่ละถาด เพื่อโยนข้าวขึ้นไปในอากาศ แล้วให้ลมที่มาจากเครื่องตัดหญ้าจัดการเป่าพวกเมล็ดข้าวที่เสียเศษปฏิกูลต่างๆ ออกไป
เมล็ดข้าวที่ผ่านการแยกเปลือกและเมล็ดข้าวที่เสียออกแล้ว จะถูกลำเลียงเก็บใส่กระสอบที่เตรียมรอไว้ โดยแต่ละครอบครัวจะเตรียมกระสอบของตัวเองมาสำหรับข้าวเพื่อขายและเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
คำว่า “บือ” ของชาวปกาเกอะญอแปลว่า ข้าว
เมล็ดข้าวที่ได้ครั้งนี้จะมีขนาดป้อมสั้น ดูเล็กแต่อวบกว่าเมล็ดข้าวทั่วไปที่เราคุ้นเคยกัน ซึ่งที่ผาหมอนจะนิยมปลูกข้าวอยู่สองสายพันธุ์ คือ “บือพะโด่ะ” หรือข้าวเมล็ดใหญ่ และ “บือโปะโหละ” หรือข้าวเมล็ดกลม
การตีข้าวในแต่ละวันโดยปกติมักจะต้องทำการให้เสร็จสิ้นตามละไร่ที่ตนเป็นเจ้าของ หรือทำให้เสร็จงานให้ได้มากที่สุด ด้วยเพราะสภาพอากาศที่บนที่สูงเช่นนี้ เรื่องคาดการณ์ฟ้าฝนเป็นสิ่งคาดเดายาก หากแต่เมื่อเสร็จสิ้นภาระกิจแล้ว แต่ละบ้านก็จะกลับข้าวของ แยกย้ายกลับบ้านของตน รอกลับสู่ท้องนาในเช้าวันต่อไป
ตลอดทั้งวันที่เฝ้าดู (และร่วมวงตีข้าวกับชาวบ้าน) มาตั้งแต่เช้าจรดเย็น พบว่าการมาเด๊าะ มากะของชาวปกาเกอะญอเป็นงานที่ประกอบส่วนสำคัญสองส่วนด้วยกัน
ส่วนแรกคือกำลังกาย เพราะวัดจากความเมื่อยล้าของแขนและไหลที่เราเผชิญ รวมถึงหยาดเหงื่อทุกหยดที่ไหลทั่วตัวชาวปกาเกอะญอทุกคนที่ร่วมตีข้าววันนี้ เห็นได้ชัดว่าเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้ความแข็งแรงของร่างกายอย่างมหาศาล จึงจะสามารถตีข้าวแต่ละกองให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดีได้ ทำให้งานส่วนนี้จึงมักจะตกเป็นชายหรือหญิงในวัยหนุ่มสาว ที่ความวัยเยาว์ของพวกเขาคือกำลังหลักของงานนี้อย่างปฏิเสธไม่ได้ ยังไม่นับการเกี่ยวข้าวที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญและคล่องแคล่วในการเกี่ยว เก็บ มัด รวม ข้าวแต่ละรวงให้พร้อมตีอย่างพิถีพิถัน ซึ่งล้วนอาศัยแรงกายให้การลงมือทำทั้งสิ้น
ส่วนที่สองคือกำลังใจ ด้วยทั้งงานเกี่ยวข้าวการตีข้าวเป็นงานที่ใช้กำลังกายมาก และนาไร่หนึ่งๆ ประกอบด้วยรวงข้าวจำนวนมหาศาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ชาวนาปกาเกอะญอเพียงคนหนึ่งคงไม่สามารถทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวเอง ดังนั้นพวกเขาจึงต้องช่วยเหลือกัน
ด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัว เครือญาติ เพื่อนบ้าน ที่ล้วนแล้วต่างเป็นส่วนสำคัญในการถักทอกำลังใจซึ่งและกัน เหนื่อยก็ร่วมกันพัก ครั้นกำลังวังชากลับมาก็ร่วมกันลุยงานต่อ กลายเป็นสายสัมพันธ์เกื้อกูลกันไปตลอด มิใช่เพียงเฉพาะงานใดงานหนึ่งให้เพียงเสร็จสิ้นไปเท่านั้น ซึ่งความสำเร็จนี้จะท้อนถึงความภูมิใจและน้ำใจที่พวกเขามีต่อกันอย่างเต็มเปี่ยม และยังส่อต่อมวลความรู้สึกแห่งความสามัคคีเกื้อกูลกันรุ่นสู่รุ่นต่อไปในหมู่ชาวปกาเกอะญอ ผ่านข้าวทุกรวงที่ได้เกี่ยว ผ่านทุกเรี่ยวแรงที่ได้ลงมือ
Contributors
แทนไท นามเสน
Writerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม
แทนไท นามเสน
Photographerนักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม