close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: ‘บ้านตาเรือง’ สำรับไทยในบ้านที่อยากเก็บกรุงเทพแบบช้าๆ และความสุขของคุณยายเอาไว้ใกล้ตัว

Trawell
Contact search
Eat Well 1.7k

'บ้านตาเรือง' สำรับไทยในบ้านที่อยากเก็บกรุงเทพแบบช้าๆ และความสุขของคุณยายเอาไว้ใกล้ตัว

28 July 2020 เรื่อง กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง ภาพ ชนิภา เต็มพร้อม

“กรุงเทพเป็นจังหวัดที่น่าสงสาร ทุกคนจากบ้านมาเพื่อเข้ามาหาเงิน หาความฝัน บางคนกลับบ้าน บางคนไม่กลับ ทุกคนดึงทึ้งกอบโกยทุกอย่างจากกรุงเทพ บ้านเมืองที่เคยเรียบง่าย ชีวิตช้าๆ การทักทายและแบ่งปันกับคนไม่รู้จัก สิ่งต่างๆ เหล่านี้มันค่อยๆ หายไปพร้อมความเจริญที่เข้ามา เราเลยอยากเป็นคนหนึ่งที่ไม่พยายามไปเปลี่ยนแปลงและกอบโกยอะไรจากมัน”

นี่เป็นประโยคที่ ‘พี่หวาย-สมิทธิ เกษสกุล’ เจ้าของร้าน เจ้าของบ้าน หลานคุณยาย และพ่อครัว แห่ง ‘บ้านตาเรือง’ เล่าให้เราฟังด้วยน้ำเสียงเศร้าๆ ครอบครัวของพี่หวายคือชาวกรุงขนานแท้ที่อาศัยและทำนาอยู่ในพื้นที่ซึ่งปัจจุบันเรียกว่า ‘รัชดาซอย 3’ มาตั้งแต่ในวันที่ยังไม่มีถนนรัชดา รอบข้างเป็นทุ่งนาและสวนผัก และยังคงมีวิถีชีวิตช้าๆ เหมือนต่างจังหวัด จนมาถึงวันนี้ที่รัชดากลายเป็นย่านออฟฟิศสุดคึกคักที่เต็มไปด้วยอาคารและห้างสรรพสินค้า คุณยายทั้งสามของพี่หวายก็ยังคงอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดิม

หลังจากทำงานออฟฟิศมานาน 10 ปี วันนี้พี่หวายตัดสินใจลาออกจากงานและเงินเดือนเกือบ 6 หลัก มาเปิดร้านบ้านตาเรือง ร้านอาหารไทยในบ้าน(ที่เคยเป็น)นา กลางรัชดา ด้วยความตั้งใจอยากกลับมาใช้เวลากับคุณยายทั้ง 3 และหากิจกรรมสนุกๆ ยามว่างให้คุณยายทำแก้เบื่อ พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงอาณาเขตบ้านสวนของครอบครัวให้เติบโตตามเมืองได้โดยไม่สูญเสียบรรยากาศแบบเดิมๆ ที่เคยมีไป

ตามมาฟังแนวคิดดีๆ ของชายผู้มีบ้านนอกอยู่ในเมืองใหญ่ และชิมสำรับอาหารไทยรสมือคุณยายด้วยกันได้ที่นี่เลย

ถึงเวลากลับบ้าน

พี่หวายเล่าให้เราฟัง ว่าก่อนที่จะเปิดร้านบ้านตาเรือง พี่หวายเองก็เป็นพนักงานกินเงินเดือนเหมือนคนทั่วไป และยังทำงานอยู่ที่เดิมมายาวนานกว่า 10 ปี แถมยังมีความสุขกับการทำงานดีอยู่ทุกวัน แต่เมื่อคุณยายซึ่งเป็นน้องสาวของยายแท้ๆ เสียชีวิต มุมมองการดำเนินชีวิตของพี่หวายก็เปลี่ยนแปลงไป

“ในวันที่คุณยายเสียมันทำให้พี่คิดว่า แค่ช่วงเวลาวันเดียว มันก็ทำให้เราไม่ได้เจอกับคนที่เราอยู่ด้วยกันมาทั้งชีวิตแล้วอ่ะ พี่ก็เลยรู้สึกว่า เราไม่อยากทำงานแบบนี้อีกต่อไปแล้ว เพราะถึงเราจะได้เงินเยอะๆ แต่ช่วงเวลาที่เราควรจะได้อยู่ด้วยกันมันหมดไปเรื่อยๆ และมันน่าเสียดาย ตั้งแต่ตอนนั้นพี่ก็เลยเริ่มคิดเรื่องการทำร้าน เพราะเราอยากให้ยายได้มีอะไรทำกันเวลาว่าง บวกกับตัวเราเองก็จะได้กลับมาอยู่ดูแลยายด้วย พอคิดได้แล้วก็ค่อยๆ ทำร้านขึ้นมาบนที่ว่างของบ้านทีละนิด เงินเดือนออกทีก็ทำเสาที ทำหลังคาที พอร้านอยู่ตัวเราก็ตัดสินใจลาออก

แน่นอนว่าเราไม่ได้มีเงินมากเหมือนเมื่อก่อน เมื่อก่อนพี่อยู่กับทุกอย่าง เสื้อผ้า นาฬิกา น้ำหอม ของแบรนด์เนม แล้วตอนนี้ทุกอย่างมันก็กองทิ้งอยู่ในตู้เสื้อผ้ากลายเป็นขยะ ใช่ บางทีเวลาเห็นคนอื่นมีในสิ่งที่เราเคยมี มันก็เกิดเป็นกิเลศขึ้นมาบ้าง แต่จากที่เมื่อก่อนตื่นเช้าไปทำงาน กลับมาบ้านสี่ทุ่มหลังยายเข้านอน อย่างน้อยวันนี้เราได้กลับมาเห็นรอยยิ้มยาย ได้อยู่ด้วยกัน ได้คุยกัน มันก็เป็นสิ่งที่เราได้มาทดแทนข้าวของเงินทองพวกนั้นแล้ว”

สำรับฉบับลูกสาวตาเรือง

ชื่อ ‘บ้านตาเรือง’ ตั้งขึ้นจากชื่อของเจ้าของพื้นที่แห่งนี้อย่าง ‘ตาเรือง’ พ่อของคุณยายทั้ง3 และปู่ทวดของพี่หวาย

“ที่ตรงนี้เมื่อก่อนเคยเป็นนาของตาเรือง เมื่อก่อนตอนเด็กๆ คุณยายก็ทำนาอยู่ที่นี่ แต่ตาเรืองมีลูกอยู่ตั้งสิบคน ผู้ชาย5 ผู้หญิง5 เราไม่รู้ว่าควรเอาชื่อของคุณยายคนไหนมาตั้ง นอกจากนี้เมื่อก่อนคนแถวนี้ก็เรียกที่ตรงนี้ว่านาตาเรือง แต่ตอนนี้มันไม่มีนาอยู่แล้ว เราไม่อยากให้คนคาดหวังว่ามาแล้วจะได้เจอนา เจอควาย ก็เลยตัดสินใจว่า อย่างนั้นก็เป็นบ้านตาเรืองก็แล้วกัน”

ถึงแม้ว่าในปัจจุบันนี้คุณยายจะไม่ได้อยู่คุมการทำอาหารในครัว แต่ยกหน้าที่ให้พี่หวายและคุณแม่ดูแลแทน แต่อาหารในร้านทุกเมนูก็เป็นสูตรที่คุณยายเคยทำให้คนในครอบครัวกินมาตั้งแต่เด็ก โดยมีพี่หวายรับหน้าที่เป็นคนออกไปจ่ายตลาดซื้อวัตถุดิบสดใหม่มาเติมทุกวัน
“ทุกวันนี้กับข้าวในบ้านยายก็ยังทำอยู่ แต่พอเป็นร้านมันต้องปรุงเป็นหม้อใหญ่ๆ ยายทำไม่ไหว เพราะสุขภาพและเรี่ยวแรงไม่ได้ดีเหมือนช่วงเปิดร้านใหม่ๆ ก็เลยจะเป็นพี่กับแม่ที่ทำเป็นหลัก ยายๆ จะช่วยเตรียมอุปกรณ์ แล้วก็ทำขนม อย่าง ขนมใส่ไส้ ขนมตะโก้ ฯลฯ เอาไว้ให้เรามากกว่า แต่อย่างน้อยการมาทำตรงนี้ก็ยังทำให้เราได้กลับมาอยู่ที่บ้าน มาอยู่กับยาย

มะเขือพวงสักอัน หรือกระเทียมสักกลีบ มันผ่านมือยายมาหมด เพราะยายอยู่ว่างๆ ทุกวัน ยายก็จะมาช่วยเตรียมอาหาร มันทำให้ช่วงเวลาของเขาไม่ว่างเปล่า ทำให้ผู้สูงอายุไม่รู้สึกว่าตัวเองไม่มีค่า มีอะไรให้ทำ ไม่น่าเบื่อ อย่างเคยมีช่วงนึงที่ปิดร้านยาวๆ ยายก็เหงาหงอยไปเลย”

สำรับที่เราจะได้กินกันในวันนี้ประกอบด้วย

  1. ต้มแซ่บซี่โครงหมู
  2. ปลาทูทอดราดพริก
  3. กุ้งทอดกระเทียม
  4. กะปิคั่วเนื้อปู
  5. ตบท้ายด้วยเมนูพิเศษประจำวันที่เราแอบสั่งมาเพิ่มอย่าง ‘ผัดหมี่ศิริมงคล’ ของหวานอย่าง ‘ตะโก้สาคูมะพร้าว’ และเครื่องดื่มสุดชื่นใจอย่าง ‘น้ำดอกบ๊วยบานแฉ่ง’ และ ‘ชาดอกบัวหลวง’

“สำรับคนไทย อย่างแรกก็ต้องมีน้ำพริกแล้วอย่างหนึ่ง แล้วมันก็ต้องมีผัด มีทอด มีแกง เราก็จะค่อยมาเลือกว่าอันไหนกินกับอะไรดีที่รสชาติมันจะส่งเสริมกัน คือมันจะมีคู่ของเขาอยู่ แกงส้มต้องกินกับปลาสลิด กะปิต้องกินคู่กับเต้าเจี้ยวหลน โดยเลือกจากเซ็ทอาหารที่บ้านเราทำกินกันอยู่แล้ว ประมาณ 50 เมนู”

วันวานในบ้านนา

หลังกินอาหารกันจนอิ่ม เราก็แวะเข้าครัวไปคุยกับ คุณยายศิริ คุณยายสมจิตต์ และคุณยายทวี คุณยายแท้ๆ ของพี่หวาย ที่กำลังนั่งเย็บกระทงตะโก้กันอยู่ในครัว

คุณยายทวีเล่าว่าพื้นที่แถวนี้เปลี่ยนไปเยอะ เมื่อก่อนมีแต่สวน นา คลอง ไม่มีตึกไม่มีบ้านมากมายเหมือนปัจจุบันโดยแต่เดิมบ้านตาเรืองเป็นนาและอาศัยน้ำจากคลองสามเสนในการปลูกพืช
“เราปลูกข้าวเป็นหลัก แล้วก็ปลูกไผ่ ปลูกฟัก ปลูกฟักทอง เดินเอาไปขายที่ประตูน้ำ เมื่อก่อนเราแทบไม่ต้องใช้เงินเลย เราเอาข้าวไปแลกมัน แลกผลไม้ หน้าน้ำปลาก็เข้ามาในนา หน้าแล้งปลาก็ไหลลงมาอยู่ในบ่อดินในเราขุดไว้ เอาปลามากิน มาแลก มาขายได้อีก บ่อน้ำก็แยกเป็นน้ำกิน น้ำอาบ น้ำใช้ ไฟก็จุดจากตะเกียง”

พี่หวายเสริมว่า ก่อนที่ความเจริญจะเข้ามาและเปลี่ยนรัชดาซอย 3 ให้แน่นขนัดแบบในปัจจุบัน กรุงเทพเคยมีแผนจะพัฒนาเมือง จึงนำขยะมาทิ้งไว้ในพื้นที่แถวประชาสงเคราะห์ ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็นศาลาว่าการกรุงเทพแห่งใหม่ โดยตามมาก็คือน้ำจากขยะที่ไหลลงสู่ลำคลองเรื่อยมาจนถึงนาตาเรืองและทำให้ต้นข้าวที่เคยปลูกได้ ไม่สามารถปลูกได้ดีเหมือนเดิม เพราะข้าวนั้นต้องการน้ำสะอาด จากที่คนแถวนี้เคยทำนา ทำสวน ปลูกผักจึงไม่สามารถทำได้อีกต่อไป สุดท้ายเมื่อถนนรัชดาภิเษกและถนนอโศกตัดผ่านมาใกล้ บรรยากาศที่คุ้นเคยของนาตาเรืองจึงค่อยๆ หมดไปในที่สุด

เป็นคนเมืองมันเจ็บปวด

นอกจากภาพของร้านอาหารสุดน่ารักๆ ที่ทุกๆ คนชื่นชมแล้ว ชีวิตคนกรุงของพี่หวายไม่ได้ง่ายดายเหมือนภาพที่สวยงามนั้น แต่ต้องต่อสู้กับทั้งเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ลง การเก็บภาษีที่ไม่เป็นธรรม และนโยบายของภาครัฐที่ไม่เอื้อให้ผู้ทำธุรกิจรายย่อยสามารถทำงานได้อย่างง่ายดายยิ่งขึ้น
“น้ำมันลิตรหนึ่งเมื่อก่อนซื้อได้ 27 บาท ตอนนี้ขึ้นมาเป็น 42 บาท เกือบเท่าตัว พี่ทำร้านอาหารในฐานะผู้บริโภคมาทำขาย ไม่ใช่ผู้ประกอบการหรือเจ้าของร้าน ไม่ได้มองว่ามันคือธุรกิจ เราทำแบบที่เรากิน ใช้ของแบบที่เราทาน อย่างกุ้งที่ใช้วันนี้ ปกติโลละ 300 ถ้าซื้อช่วงปีใหม่จะเป็น 400 แต่เราก็ต้องใช้ เพราะเราไม่อยากใช้กุ้งตัวเล็กๆ เพราะเราอยากทำให้คนที่ทานได้กินแบบที่ปกติเราทำกิน

แต่แน่นอนว่ารัฐไม่ได้เห็นภาพแบบนั้นร่วมกันกับเรา เขาไม่ได้สนับสนุนหรือดูแลเรา ด้วยสภาพเศรษฐกิจและสังคม ร้านไม่ได้กำไรเลย เราอยู่ได้แบบพอดีๆ เงินเข้ามาแล้วก็ออกไป ถ้าวันหนึ่งยายพี่ไม่อยู่แล้ว พี่ก็อาจจะไม่ทำร้านต่อแล้วก็ได้นะ เพราะไม่รู้จะทำไปทำไม และการได้มาใช้เวลาอยู่กับยาย มีกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ให้ยายทำ ก็เป็นสาเหตุหลักในการทำร้านนี้อยู่แล้ว”

เปลี่ยนเมืองด้วยมือคนตัวเล็ก

เมื่อไม่มีบ้านนอกให้กลับ แต่มีรัชดาซอย3 เป็นพื้นที่ของครอบครัว ถึงแม้จะปลงและหมดหวังกับกรุงเทพมากแค่ไหน แต่พี่หวายก็ยังคงไม่ถอดใจไปจากบ้านนากลางกรุงแห่งนี้ แต่เปลี่ยนพลังของความสิ้นหวังให้เป็นก้าวเล็กๆ ของการกลับมาพัฒนาบ้านตัวเองให้ดีขึ้น

“พี่ปลงกับเมืองกับรัฐจริงๆ เราไม่ได้รับอะไรจากเขามาตั้งกี่สิบปีแล้วก็ไม่รู้ แต่ทำไงได้ เมืองมันคือบ้านของพี่ แม่พี่อยู่ที่นี่ ยายพี่อยู่ที่นี่ เราก็ทำได้แค่พยายามทำให้ส่วนเล็กๆ ใกล้ตัวเรามันดี พี่เชื่อในการกลับไปอยู่ในที่ๆ เราจากมา ไม่ใช่กลับไปอยู่แบบโง่ๆ แต่กลับไปพร้อมความรู้และความสามารถที่จะทำให้มันเปลี่ยนให้มันเป็นที่ๆ ดีกว่าเดิมได้

เราเองต่างหากที่เป็นคนสำคัญที่จะทำให้สังคมมันขับเคลื่อนไป เราที่ตัวเล็กๆ นี่แหละ อย่างน้อย เราได้กลับมาทำให้บ้านเราคึกคักขึ้น มีคนเข้ามามากขึ้น ถ้าวันหนึ่งมีคนตั้งโต๊ะขายของหน้าบ้านแล้วมีแขกของร้านเราออกซื้อ มันก็เกิดเป็นอาชีพขึ้นมาแล้ว ถ้าเราไม่ช่วยกันสร้างให้สิ่งเล็กๆ ที่อยู่รอบตัวเรามันดีขึ้น ก็ไม่มีใครมาทำแทนเราหรอก”

Info

บ้านตาเรือง

ที่ที่คุณไม่รู้ว่าจะได้กินอะไร แต่ที่มั่นใจคือคุณจะรู้สึกเหมือนได้ย้อนไปอิ่มเอมกับอาหารฝีมือคุณยายและอาหารที่ดูเหมือนจะเรียบง่ายแต่รสชาติหาได้ยาก

open time icon
เสาร์, อาทิตย์ 11:30 - 17:00

Contributors

contributor's photo

กันยณัฏฐ์ พรจันทร์ทอง

Writer

นักเขียน, นักเดินทาง, เด็กหญิงผู้เติบโตในเมืองเก่า ที่มีความสุขทุกครั้งที่ได้จัดกระเป๋าออกไปรู้จักโลก ปัจจุบันกำลัง In a Relationship with ศิลปะ หนัง พิพิธภัณฑ์ เสื้อผ้ามือสองและการเดินเรื่อยเปื่อย

contributor's photo

ชนิภา เต็มพร้อม

Photographer

Next read