close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: New World : อดีต (โลกใหม่) แห่งบางลำพู

Trawell
Contact search
See Well 2.7k

New World : อดีต (โลกใหม่) แห่งบางลำพู

6 September 2020 เรื่อง แทนไท นามเสน ภาพ แทนไท นามเสน

“ลิฟต์แก้ว ห้างถล่ม วังมัจฉา ปลาคาร์ฟ”

ถ้อยคำที่เปรียบเสมือนเรื่องเล่าถึงอดีตห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ใจกลางย่านการค้าเก่าแก่อย่างบางลำพู อาคารสูง 11 ชั้นที่เคยหมายมั่นไว้ให้เป็นศูนย์กลางของ “โลกใหม่” แห่งบางลำพู หมุดหมายสำคัญเคยเปลียนย่านนี้ไปสู่ความล้ำสมัยเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว

เรากำลังพูดถึง “นิวเวิลด์ (New World)” อดีตห้างสรรพสินค้าใจกลางบางลำพูที่ใครต่อหลายคนเคยตื่นตาตื่นใจกับลิฟต์แก้วสุดทันสมัย หรือรู้สึกโอ่อ่าไปกับความยิ่งใหญ่ของความสูงอาคารกว่า 11 ชั้นใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ที่ทุกวันนี้เหลือไว้เพียงเรื่องเล่าจากโศกนาฎกรรมห้างถล่ม หรือไม่ก็ติดอยู่ความทรงจำของคนรุ่นหลังไปอีกหน่อยในเรื่องฐานะสถานที่ลึกลับ ที่ตั้งของ “วังมัจฉา” ที่มีปลาคาร์ฟแหวกว่ายท่ามกลางห้างร้าง

วันนี้ห้างนิวเวิลด์กำลังถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังจากที่ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่จัดงาน ARCH FEST 2020: New World I Old Town นิทรรศการแสดงผลงานของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมกับ กลุ่มประชาคมบางลำพูและกลุ่มเกสรลำพู โดยจัดขึ้นช่วงวันที่ 14-19 มิถุนายน พ.ศ.2563 โดยเปิดงานผ่านการเสวนาทาง Facebook Live ที่เพจ บางลำพู everyday และกิจกรรมพาเข้าภายในพื้นที่แบบจำกัดจำนวนผู้เข้าชมในช่วงวันที่ 18-19 มิถุนายน พ.ศ.2563 ที่ผ่านมา

ในวันนี้ Trawell จะมาชวนคุณผู้อ่านย้อนเวลาไปเรียนรู้เรื่องเราวกับสถานที่จัดงานครั้งนี้
ไปรู้จักอดีต (โลกใหม่) แห่งบางลำพูกัน

1

นิวเวิลด์เป็นห้างสรรพสินค้าที่อยู่เครือของ บริษัท แก้วฟ้า ช้อปปิ้งอาเขต จำกัด ภายใต้การนำของ แก้ว ผูกทวนทอง อดีตนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงของย่านบางลำพูในช่วงปี พ.ศ.2520-2540 โดยแก้วมีพื้นเพเป็นคนจังหวัดสุพรรณบุรีที่เข้าอยู่อาศัยในบางลำพูช่วงปี พ.ศ.2500 แล้วสร้างตัวจากการเป็นเด็กร้านรองเท้าริมถนนจักรพงษ์ ก่อนจะขยับขยายฐานะกลายเป็นเจ้าของกิจการห้างสรรพสินค้าย่านบางลำพูในช่วงต้นปี พ.ศ.2520 ในชื่อ แก้วฟ้าพลาซ่า ซึ่งได้สร้างสีสันการค้าให้บางลำพูเกิดความคึกคักเป็นอย่างมากในช่วงเวลานั้น

ขณะที่แก้วฟ้าพลาซ่าดำเนินกิจการไปได้ไม่นานนัก ทางบริษัทได้ติดต่อขอเช่าที่ดินบริเวณหัวมุมถนนไกรสีห์จาก พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภาณุพันธ์ ยุคล (เมื่อครั้งมีพระชนม์ชีพอยู่) เพื่อสร้างเป็นห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่แห่งแรกของบางลำพู จนกลายเป็นสัญลักษณ์สำคัญแห่งใหม่ของย่านขึ้นในปี พ.ศ.2526 ส่งผลให้ย่านเกิดความคึกคักอย่างต่อเนื่อง และด้วยความสำเร็จของนิวเวิลด์บางลำพูนี้ ทำให้แก้วตัดสินเปิดสาขาของนิวเวิลด์เพิ่มอีก 2 แห่ง คือ นิวเวิลด์รัตนาธิเบศร์ และนิวเวิลด์จังหวัดสระบุรี ในเวลาต่อมาอีกด้วย

การเกิดขึ้นของนิวเวิลด์เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันกับการยุครุ่งเรืองของห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ.2520-2530 โดยมีจุดแข็งในระบบบริการเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) ซึ่งพัฒนามาจากในช่วงทศวรรษที่ พ.ศ.2490  คือแนวคิดการนำสินค้าหลากหลายประเภทมาขายรวมกันในร้านเดียว พร้อมทั้งสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เข้าเพิ่มเติม เพื่อความสะดวกสบายแก่ลูกค้า เพื่อเพิ่มมิติการใช้งานของอาคารให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยห้างสรรพสินค้าอย่างพาต้า เมอรี่คิงส์ เซ็นทรัล เและดอะมอลล์กรุ๊ป ต่างเป็นกลุ่มห้างสรรพสินค้าสมัยใหม่ที่ได้รับความนิยมในช่วงระยะเวลานี้เช่นเดียวกัน

 

2

ห้างสรรพสินค้านิวเวิลด์ได้รับการออกแบบโดยบริษัทไทยบุรินทร์ ของบุรินทร์ วงศ์สงวน สถาปนิกและนักธุรกิจผู้มีชื่อเสียงในยุคนั้น โดยเริ่มโครงการในช่วง พ.ศ.2525 และมีการวางแผนล่วงหน้าว่าจะสร้างเป็นอาคารความสูงถึง 11 ชั้น แต่ในเบื้องต้นได้ขออนุญาตกรุงเทพมหานครไว้เพียงอาคาร 4 ชั้นก่อน ก่อนจะยื่นขอต่อเติมอาคารชั้นอื่นๆ ขึ้นไปอีกในเวลาต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นปัญหาทางกฏหมายระหว่างบริษัทกับทางกรุงเทพมหานครว่าด้วยการก่อสร้างอาคารผิดแบบยาวนานนับ 10 ปี

กลางทศวรรษที่ พ.ศ.2530 เศรษฐกิจในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ช่วงซบเซา กิจการในเครือของแก้วนั้นได้รับผลกระทบโดยตรง ทั้งห้างห้างแก้วฟ้าและนิวเวิลด์เริ่มประสบปัญหาเรื่องรายได้ อีกทั้งยังมีคดีความติดพันเรื่องการแอบต่อเติมอาคารผิดแบบของห้างทั้งสองแห่ง กระทั่งปี พ.ศ. 2540 ดร.พิจิตต์ รัตตกุล ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในเวลานั้น ก็ได้มีคำสั่งไปยังสำนักงานเขตพระนคร ให้แจ้งกับบริษัทว่าจะปิดอาคารตั้งแต่ชั้นที่ 5-11 โดยให้เวลาในการรื้อถอน 90 วัน ขณะที่ห้างแก้วฟ้าก็ได้รับคำสั่งศาลให้ทำการรื้อถอนส่วนที่ต่อเติมผิดแบบออกไปในช่วงก่อนหน้านี้แล้ว โดยทางกรุงเทพมหานครเห็นว่าหากช้าไปกว่านี้ ผลของการก่อสร้างอาคารผิดแบบอาจจะก่อให้เกิดอันตรายได้ จึงขออำนาจศาลเข้ารื้อถอนห้าง แต่ทางบริษัทแก้วฟ้าได้ปฏิเสธและขอเป็นผู้จัดการรื้อถอนทั้งหมดด้วยตนเอง

กระทั่งวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ.2547 เวลาประมาณ 10:30 น. อาคารชั้น 8 ของห้างซึ่งเป็นชั้นที่นำเศษวัสดุก่อสร้างที่เกิดจากการรื้อถอนอาคารตั้งแต่ชั้น 9-11 มากองรวมกันนั้น เกิดรับน้ำหนักไว้ไม่อยู่ ทำให้เกิดการถล่มลงมาเป็นช่องซีเมนต์ขนาดใหญ่ร่วมลงไป 8 ชั้นจนถึงชั้น 1 มีผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ 8 ราย และเสียชีวิต 1 ราย ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้กลายทำให้ห้างจำเป็นต้องยุติการดำเนินกิจการอย่างถาวร อวสานเรื่องราวของห้างนิวเวิลด์ไปในที่สุด

3

เวลาผ่านไปหลายปี นิวเวิลด์เริ่มเป็นที่รู้จักอีกครั้งในฐานะ Hidden Place ของกรุงเทพมหานครในชื่อของ “วังมัจฉา” เนื่องจากพื้นที่ชั้น 11 ที่เป็นช่องซีเมนต์จากอุบัติเหตุเมื่อครั้งการรื้อถอนอาคารนั้น ได้กลายเป็นพื้นที่รับฝนเข้ามาในอาคาร และด้วยสภาพใต้อาคารเป็นพื้นที่กว้าง น้ำฝนได้สะสมจนกลายเป็นแอ่งน้ำขัง เหมาะสมแก่การเพาะพันธุ์ของยุง ซึ่งได้สร้างความเดือดร้อนกับคนในพื้นที่ ด้วยเหตุนี้ชาวบางลำพูจึงนำปลาไปปล่อยให้กินลูกน้ำเพื่อสกัดกั้นเพาะพันธุ์ยุง โดยไม่คิดว่าจะกลายเป็นสถานที่ติดอันดับในโลกออนไลน์เป็นหนึ่งใน Hidden Place ของกรุงเทพหานคร จนมีนักท่องเที่ยวหาทางเข้ามาในพื้นที่หลายต่อหลายครั้ง จนเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2557 สำนักงานเขตพระนคร ได้ประกาศสั่งปิดตึกร้างดังกล่าวอย่างเป็นทางการ พร้อมทั้งเริ่มการขนย้ายปลาและสูบน้ำออกจากพื้นที่ห้างอย่างถาวร

4

และในปี พ.ศ.2563 นี้ กลุ่มประชาคมบางลำพูและกลุ่มเกสรลำพู ร่วมกับคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้จัดงาน ARCH FEST 2020: New World I Old Town ขึ้น จากความคิดริเริ่มของ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์ประจำคณะถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่เลือกใช้พื้นที่ของห้างนิวเวิลด์ลานจัดแสดงนิทรรศการศิลปะ + ชุมชน ขึ้น เพื่อสะท้อนมุมมองต่อการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของย่านบางลำพู ในฐานะย่านประวัติศาสตร์ที่ผ่านพลวัตมาหลายครั้งตลอดระยะเวลานับ 100 ปี โดยประกอบมีเนื้อหาไปด้วย

ผลงานการออกแบบแนวคิดและปรับปรุงอาคารนิวเวิลด์ โดยนักศึกษาชั้นปีที่ 3 และ 4 คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นิทรรศการดังกล่าวเกิดขึ้นจากโจทย์ที่นักศึกษาพัฒนาไอเดียและความคิดขึ้นมาว่าในอนาคตห้างมีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ของที่นี่ ห้างนิวเวิลด์จะสามารถเปลี่ยนแปลงเป็นอะไรได้บ้างในสายตาของคนรุ่นใหม่

นิทรรศการ 20×20

เรื่องราวโดยนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีแก่นความคิดคือ “ของยี่สิบอย่าง จากคนยี่สิบกลุ่ม” ที่ต่างเป็นผู้ถักทอเส้นเวลาประวัติศาสตร์ของย่านบางลำพู โดยมีความคิดจากการนึกถึงคำที่คนทั่วไปมักนึกถึงเวลาพูดถึงบางลำพู แล้วใช้คำเหล่านั้นมาเชื่อมโยงกับผ่าน “ของ” ไปสู่ “คน” โดยในนิทรรศการมีตั้งแต่ ธงชาติ เสื้อนักเรียน ข้าวสาร อุปกรณ์ไหมพรม เป็นต้น

40 คนสำคัญแห่งบางลำพู

นิทรรศการนี้จัดทำขึ้นโดยชมรมเกสรลำพู โดยเกิดขึ้นจากการทำวิจัยชมรมโดยการสัมภาษณ์บุคคลที่มีชีวิตและอาศัยอยู่ในบางลำพูมานาน เพื่อสะท้อนถึงสายตาและมุมมองที่คนในพื้นที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของย่าน ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ชมที่หลายคนอาจเป็นนอกชุมชนในการได้เห็นและฟังเรื่องราวจากคนในพื้นที่ด้วยตนเอง

Lighting Installation จากบางลำพูสู่อนาคต

ประกอบไปด้วยนิทรรศการสองส่วน ส่วนแรกคือการฉายไฟสะท้อนกับผนังและเพดานให้เหมือนกับมีแสงสะท้อนผิวน้ำที่มองเห็นปลาคาร์ฟว่ายวนเวียนอยู่ในนั้น เพื่อเป็นการฉายภาพให้เหมือนกับครั้งที่นี่เป็นที่รู้จักของคนหมู่มากในชื่อวังมัจฉา กับส่วนที่สองคือกาารแสงมาสร้างเป็นรูปบันไดผสมกับการใช้ผ้ายาว โดยและบันไดทำหน้าที่เหมือนเส้นเวลา และผ้ายาวนั้นเป็นตัวแทนของย่านบางลำพูที่มีชื่อเสียงจากย่านค้าขายเสื้อผ้า โดยทำรูปร่างให้ล้อรับสัมพันธ์กัน เพื่อแสดงให้เห็นถึงการเดินไปสู่อนาคตของบางลำพู

แม้ว่านิทรรศการนี้จะเป็นนิทรรศการที่จำกัดผู้เข้าชมเนื่องด้วยเหตุผลความปลอดภัยของอาคาร แต่ในวันนี้เชื่อว่าหลายๆ คนที่ได้เข้ามาชมและสัมผัสเรื่องราวของชาวบางลำพู อาจกำลังมองเห็นการฟื้นคืนชีพของอดีตห้างดังอีกครั้ง ในฐานะผู้ร่วมบันทึกประวัติศาสตร์หน้าสำคัญของย่านค้าขายเก่าแก่ และด้วยการทับซ้อนพื้นที่ทางความทรงจำระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของบางลำพูผ่านพื้นที่ของนิวเวิล์ด ที่คนในชุมชนและคนรุ่นใหม่อย่างนักศึกษามหาวิทยาลัย ต่างช่วยกันสะท้อนมุมมองและความคิดผ่านนิทรรศการออกมานั้น มันคือการได้เห็นพลังและความร่วมมือของชุมชนทั้งรุ่นเก่าและใหม่ ที่ตระหนักรู้ถึงคุณค่าของพื้นที่ในการเลือกที่จะจัดการกับความทรงจำของตนเอง

เพราะแม้ว่าอดีตห้างสรรพสินค้าแห่งนี้อาจจะอยู่ในภาพจำของคนในย่านไม่น้อยถึงจากจุดจบด้วยโศกนาฎกรรมที่เลวร้ายในอดีตที่ใครต่อใครหลายคนอยากลืม แต่ครั้งหนึ่งสถานที่เดียวกันนี้เคยเป็นเสมือนอัญมณีสะท้อนความรุ่งเรืองของการย่านการค้าขายที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งบนเกาะรัตนโกสินทร์ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนสุดแท้แต่เป็นเรื่องราวที่ชุมชนนั้นสามารถเลือกได้เองว่าพวกเขามีสิทธิ์จะอยู่ร่วมกับ “อดีต” ของตนเองอย่างไร

Contributors

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Writer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

contributor's photo

แทนไท นามเสน

Photographer

นักศึกษาปริญญาโทผู้ชอบมองหาความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าผ่านเรื่องเมือง ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม

Next read