close icon
Stories
Mascot Workwell Image Mascot Gowell Image Mascot joinwell Image Mascot Eatwell Image Mascot Livewell Image Mascot Seewell Image
TrawellStories
Trawell

Reading: Neighbour’s Gift

Trawell
Contact search
Join Well 2.3k

Neighbour’s Gift

14 January 2021 เรื่อง รักษิณา สิทธิคงศักดิ์

ของขวัญปีใหม่ที่ใหม่ไม่เหมือนเก่า
แค่ของชิ้นเดียวก็สร้างความสุขให้คนตัวเล็กๆ ในชุมชนได้อย่างมหาศาล

 

“จะปีใหม่แล้ว รู้หมือไร่ ทำไมเราควรให้ของขวัญกันและกัน? ”

สำหรับเรา เราให้ของขวัญใครสักคนเพราะการให้ของขวัญเพียง 1 ครั้ง สามารถแผ่กระจายรังสีความสุขให้แก่คนรอบข้างได้มากถึง 3 คน (เป็นอย่างต่ำ)

คนที่ 1 ผู้รับ มีความสุขจากการได้รับของขวัญ
คนที่ 2 ผู้ให้ มีความสุขจากการได้ให้ของขวัญ
คนที่ 3 ผู้ผลิตของขวัญ มีความสุขจากการมีอาชีพและรายได้ไปดูแลครอบครัว

เมื่อมีใครสักคนมอบความรู้สึกดีๆ ให้เรา ก็เป็นธรรมดาที่เราอยากมอบความรู้สึกดีๆ แบบนั้นกลับคืนให้เป็นการตอบแทน และเมื่อใครสักคนมีความสุขมากพอ ก็ไม่แปลกที่เขาจะอยากแบ่งปันพลังงานความสุขให้แก่คนอื่นๆ ต่อไป จำนวนเริ่มต้นของ ‘คนที่มีความสุข’ จาก 3 คน จึงพร้อมที่จะเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ จนเกิดเป็นสังคมแห่งความสุขที่มีจุดเริ่มต้นจากการแบ่งปัน

การเลือก ‘ของขวัญ’ ให้ใครสักคน จึงควรเลือกอย่างพิถีพิถัน เพราะสิ่งของนั้นไม่เพียงสื่อถึงความใส่ใจของผู้ให้แก่ผู้รับและความตั้งใจในการแบ่งปันความรู้สึกดีๆ เท่านั้น แต่ของขวัญอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรัก ความเข้าใจ และการทดลองใช้สินค้าจากชุมชนอย่างยั่งยืน

ก่อนปีใหม่นี้จะมาถึง Trawell จึงอยากชวนทุกคนมาส่งต่อ ‘ความสุข’ ด้วยของขวัญสุดน่ารักจากชุมชนที่เหล่าเพื่อนร่วมทีมของเรามีโอกาสได้รู้จักระหว่างการเดินทางไปทำงานในหลายพื้นที่ทั่วไทยตลอดปี 2020 ทั้งวิถีชีวิต อาชีพ และความตั้งใจที่แฝงอยู่ในสิ่งของเหล่านั้น พวกเราจึงคิดว่า จะดีแค่ไหนถ้าเราสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างรายได้ให้พวกเขา เราจึงอยากชวนให้คนที่คุณรัก มารู้จักชุมชนเพื่อนบ้านเรา ผ่านสินค้าจากความตั้งใจของพวกเขา เนื่องในโอกาสขึ้นปีใหม่ที่จะถึงนี้

‘มัย’ อยากแนะนำให้คุณได้ทานข้าวที่ดีและปลูกอย่างตั้งใจ

หอม-นุ่ม-อร่อย ข้าวหอมมะลิ ข้าวศรีแสงดาว ข้าวหอมมะลิที่ปลูกโดยกลุ่มชาวนาหมู่บ้านนาหยอด ทุ่งกุลาร้องไห้ จังหวัดร้อยเอ็ด แหล่งปลูกข้าวหอมมะลิคุณภาพดีของไทย เพราะมีดินที่อุดมสมบูรณ์ มีแร่ธาตุและสภาพอากาศที่แสนจะเหมาะแก่การปลูกข้าวหอมมะลิ ทำให้ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลากลายเป็นสินค้าแรกของไทยที่ได้รับการจดทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ในสหภาพยุโรป หรือเรียกว่า สินค้าข้าว GI

ชาวนาได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดต้นทุน และได้ผลผลิตที่น่าพอใจยิ่งขึ้น ทั้งคุณภาพและปริมาณ โดยการทำนาหยอด แทนนาหว่านแบบเดิม และเช็คพยากรณ์อากาศก่อนการหว่านเมล็ด เพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายจากการทำนาหน้าแล้ง

ให้ความห่วงใยแก่ผู้ให้แล้วยังไม่ลืมห่วงใยสิ่งแวดล้อมด้วย เพราะกล่องใส่ข้าวหอมมะลิศรีแสงดาวนี้ recycle จาก ‘แกลบ’ หุงข้าวหมดแล้วก็นำไปใช้ต่อเป็นกล่องใส่ทิชชู่ และของใช้อื่นๆ ได้ การันตีคุณภาพด้วยรางวัล PM Export Award 2020 ประเภทสินค้าไทยที่มีการออกแบบยอดเยี่ยม (Best Design)

ช่องทางสั่งข้าว Gourmet market / Tops market และ
https://www.facebook.com/VillageSrisangdao

*GI ย่อมาจาก Geographical Indication หมายถึง สินค้าที่เป็นทรัพย์สินทางปัญญาของคนในชุมชนที่เกี่ยวข้องกับภูมิศาสตร์นั้นมีเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของคนในชุมชนในการผลิตสินค้า

‘ป๊อป’ แนะนำ ‘ตะกร้ากระจูด’ จากหมู่บ้านชายทะเล ให้คุณไว้ใช้ใส่ของตอนไปชอปปิ้ง

ป๊อปกลับมาจากหมู่บ้านทอนอามาน หมู่บ้านชายทะเล จังหวัดนราธิวาส พร้อมแนะนำ ‘เครื่องสานจากต้นกระจูด’ ให้เพื่อนๆ รู้จัก ที่หมู่บ้านมีกลุ่มสานจากกระจูด ซึ่งเป็นพืชชนิดเดียวกับ ‘กก’ พืชท้องถิ่นที่ชอบขึ้นตามแนวชายฝั่งทะเลและบึงน้ำ มีต้นกำเนิดไกลถึงมาดากัสการ์

ป๊อปเล่าว่า “ในระหว่างที่ผู้ชายออกเรือไปหาปลาในทะเล ผู้หญิงก็สานกระจูดเป็นเสื่อ ตะกร้า และกระเป๋าอยู่บ้าน กลับมาก็เอาปลาที่จับมาได้ ใส่ตะกร้ากระจูด เอาไปแลกข้าวกับหมู่บ้านข้างเคียง” พวกเราคิดว่านี่เป็นวิถีชีวิตที่น่ารักน่าเอาเป็นเยี่ยงอย่าง จึงเริ่มจากการแนะนำตะกร้ากระจูดให้เป็นของขวัญปีใหม่สำหรับคุณแล้วกัน

ช่องทางสั่งกระจูดสาน โทร 086 289 6671
(นามบัตรในรูป)

“แค่สิ่งแวดล้อมเรายังใส่ใจ แล้วนับประสาอะไรกับคุณ” ‘ปลื้ม’ กล่าว พร้อมขยิบตาซ้ายเบาๆ

ปลื้มอยากพาคุณไปเที่ยวเชียงราย ด้วยสัมผัสรสและกลิ่นกาแฟจากหมู่บ้านแม่จันใต้ Rise Cafe ร้านกาแฟกลางสำเพ็งนำเมล็ดกาแฟคุณภาพดีที่ปลูกโดยเกษตรกรไทย ส่งตรงจากหมู่บ้านแม่จันใต้ จังหวัดเชียงราย มาสกัดเย็นเป็น Concentrated cold brew ที่มีรสชาติลึกล้ำและกลิ่นหอมสดชื่น บรรจุลงขวดไวน์และขวดน้ำแร่เก่าที่ผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว ก็เลยมั่นใจได้ว่าสะอาดและปลอดภัยแน่นอน แถมยังไม่สร้างขยะเพิ่มอีกด้วย

เพิ่มความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการนำขวดไวน์เก่ามา reuse ตัดและขัดให้ทู่ จะได้ไม่บาดมือ แล้วนำมาใช้เป็นที่ใส่ของ อย่างเทียนหอม

ช่องทางสั่งกาแฟและเทียนหอม RISE Cafe and Bar

‘การ์ตูน’ แนะนำ ‘กระเป๋าย่ามทอมือ’ โดยกลุ่มคนที่แสนอบอุ่นกับวิถีชีวิตที่เปี่ยมด้วยความรัก

การ์ตูนบอกว่า “ชาวปกาเกอะญอโรแมนติกแบบ eco-friendly” เพราะพวกเขาเชื่อว่า คนและธรรมชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุข ด้วยการดูแลและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน คนหากินจากพืชและสัตว์ป่า แล้วตอบแทนด้วยการดูแลให้ผืนป่ายังคงอุดมสมบูรณ์ นิยามความรักของพวกเขาคือการรักโดยปราศจากความต้องการที่จะครอบครอง แต่เป็นการดูแลรักษาให้คงเดิม ตามที่ธรรมชาติสร้างมาให้เป็น

พวกเขาใช้ชีวิตอย่างเรียบง่าย และเบียดเบียนสิ่งแวดล้อมรอบข้างน้อยที่สุด อย่างการทำผ้าทอมือก็แสนเรียบง่าย เป็นการทอสำหรับใช้ง่ายจริงๆ ลวดลายก็เป็นลายเส้น ลายทาง ลายขวางบ้าง ไม่ค่อยมีลวดลายซับซ้อน แต่ละเอียดอ่อนด้วยกรรมวิธีการทำ ตั้งแต่การแช่ด้ายในน้ำข้าว ตากแดดให้แห้ง ด้ายจะแข็ง ไม่มีเส้นใยเล็กๆ และทอง่ายขึ้น ใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 วันเต็มๆ กว่าจะทำย่ามสักใบ

ช่องทางการสั่งกระเป๋าย่ามทอมือ HIN LAD NAI Products

“ให้เพราะใส่ใจสุขภาพคุณ อยากบำรุงสายตาของคุณ เสริมสร้างความจำ และป้องกันโรคหัวใจ”

‘มาย’ ซื้อถั่วลายเสือกลับมาจากแม่ฮ่องสอน แบ่งเพื่อนๆ กิน และเล่าให้ฟังว่า “แม่ฮ่องสอนไม่ได้มีดีแค่ที่เที่ยวและธรรมชาติที่สวยงาม แต่ยังมี ‘ถั่วลายเสือ’ ที่แสนอร่อยและเต็มไปด้วยประโยชน์”

ถั่วชนิดนี้เป็นพืชท้องถิ่นประจำแม่ฮ่องสอน ปลูกง่าย ทนแดดทนฝน ไม่ต้องใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง น้องถั่วก็เติบโตได้อย่างสวยงาม ทำให้ไม่ต้องกังวลใจเรื่องสารปนเปื้อน นำไปต้ม คั่ว และแปรรูปด้วยวิธีอื่นๆ เป็นถั่วเคลือบงาหรือป๊อปคอร์น ก็ขายดี เพราะอร่อย คุณค่าทางสารอาหารสูง แถมยังราคาย่อมเยาว์ จึงสามารถสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและคนในชุมชนได้มากมาย จนได้ชื่อว่าเป็นพืชเศรษฐกิจประจำแม่ฮ่องสอน

ช่องทางสั่งถั่ว โทร. 0882538165 หรือ
https://www.facebook.com/profile.php?id=100015474367250

‘แพน’ อยากให้คุณอบอุ่นหัวใจ ด้วยผ้าพันคอย้อมครามธรรมชาติ จากบ้านอุ่มเหม้า

แพนบอกว่า “สกลนครโด่งดังเรื่องการย้อมคราม” ครามนี้เป็นทั้งชื่อสีและชื่อพืชพื้นเมืองสกลนคร คนโบราณนิยมนำกิ่งและใบมาแช่น้ำด่าง และหมักเอาน้ำครามมาย้อมสีผ้า ส่วนกรรมวิธีในการหมักครามนี้ เรียกว่า ‘เลี้ยงคราม’ เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนมาก ต้องหมักซ้ำหลายกว่าจะได้สีที่สวยงาม หากทำผิดขั้นตอน ครามก็จะตาย (ไม่มีสี)

ผ้าพันคอย้อมครามธรรมชาตินี้จึงเป็นเป็นผลผลิตจากความพิถีพิถัน ตั้งแต่การปลูกคราม เลี้ยงคราม และถักทอ จนกลายเป็นผ้าพันคอสำหรับมอบให้คนที่คุณห่วงใย

ช่องทางสั่งผ้าพันคอย้อมคราม
https://www.facebook.com/profile.php?id=100040025539667

“ให้เพราะห่วง ห่วงทั้งคุณและโลกใบน้อยของเรา” พลอย (ไม่ได้) พูด

พลอยไปจัดเวิร์คช็อปที่สุโขทัย และมีโอกาสได้รู้จักผ้าทอจากฝ้ายย้อมดินธรรมชาติ-เครื่องสาน-เครื่องประดับจากใบตาล สินค้าจากชุมชนไทยชนะศึก จังหวัดสุโขทัย การผสมผสานระหว่างภูมิปัญญาของคนภาคกลาง คือชาวถิ่นเดิมของสุโขทัย และคนภาคเหนือที่อพยพมาจากลำปาง มีทั้งผลิตภัณฑ์ผ้าที่ทอจากฝ้ายย้อมสีดินธรรมชาติ เครื่องสาน และเครื่องประดับจากใบตาล ที่เป็นพืชท้องถิ่น ปลูกกันทั่วไป ไม่ได้มีประโยชน์แค่เอามาทำตาลโตนดหรือตาลเชื่อมเท่านั้น

การย้อมฝ้ายด้วยสีดินธรรมชาติ ปลอดภัยต่อผู้ใช้และสิ่งแวดล้อม ซักแล้วไม่มีสารเคมีตกค้างที่เป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต เครื่องสานจากใบตาลก็เป็นบรรจุภัณฑ์ทางเลือกที่ใช้แทนพลาสติกได้ดี คงทนไม่แพ้กัน ดังนั้นการใช้ดินและใบตาลนี้จึงเป็นเครื่องบ่งบอกถึง ‘Local Wisdom’ ประจำชุมชนที่เกิดจากการประยุกต์ธรรมชาติรอบตัวให้เกิดประโยชน์สูงสุด

ช่องทางสั่งผ้าฝ้ายย้อมดิน และเครื่องสานจากใบตาล
ผลิตภัณฑ์ชุมชนไทยชนะศึก

 

Happy New Year 2021 ล่วงหน้านะทุกคน
แล้วพบกันใหม่ ?

Contributors

contributor's photo

รักษิณา สิทธิคงศักดิ์

Writer

สาวน้อยในเมืองใหญ่ ผู้มี love-hate relationship w/ Bangkok ตื่นเช้ามาเพื่อขอบคุณการมีอยู่ของอาหารอร่อย ขนแมว และบัตเตอร์สก็อต

Next read